โรคเกาต์ ดูแลอย่างไรดี

อ่าน 14,330

pixabay.com

โดย นศภ.ปณิดา ไทยอ่อน นักศึกษาฝึกปฏิบัติงานคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

โรคเกาต์ (gout)

เกิดจากการสะสมผลึกเกลือโมโนโซเดียมยูเรต (monosodium urate)

ในน้ำไขข้อและเนื้อเยื่อต่างๆ สืบเนื่องจากการมีระดับกรดยูริกในเลือดสูง

(hyperuricemia) ที่มีค่ามากกว่า 6 และ 7 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

ในเพศหญิงและชายตามลำดับ

ทั้งนี้การตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคเกาต์ทำได้โดยการตรวจพบผลึกเกลือโมโนโซเดียมยูเรต

จากน้ำไขข้อหรือก้อนที่เห็นเป็นตะปุ่มตะป่ำ เรียกว่าก้อนโทฟัส (tophus)

อย่างไรก็ตามระดับกรดยูริกในเลือดสูงอย่างเดียวนั้น

ยังไม่สามารถที่จะยืนยันว่าเป็นโรคเกาต์ได้ ต้องมีอาการปวดบวมที่ข้อ

หรือพบก้อนโทฟัส (tophus) ร่วมด้วย1,2 โรคเกาต์

ถือเป็นโรคข้ออักเสบที่พบบ่อยมีอุบัติการณ์การเกิด 4.3 คนต่อประชากรไทย

100,000 คน3 พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง

ดังนั้นสิ่งสำคัญที่จะให้ผู้ป่วยรับมือกับโรคเกาต์ได้

คือความเข้าใจในตัวโรคและการดูแลที่ถูกต้อง

โรคเกาต์ สามารถแบ่งได้ 3 ระยะ

คือเมื่อเกิดอาการปวดข้อขึ้นมาหรือกำเริบอีกครั้ง เราเรียกว่า

ระยะข้ออักเสบเฉียบพลัน (acute gouty arthritis)

โดยทั่วไปสามารถหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์4

แต่ละคนอาจมีสาเหตุกระตุ้นอาการปวดข้อที่ไม่เหมือนกัน เช่น

ปวดเมื่อมีอากาศหนาวเย็น5 การรับประทานอาหารที่มีพิวรีนสูง6

(เนื่องจากพิวรีนสามารถเปลี่ยนแปลงให้กลายเป็นกรดยูริกได้)

การดื่มแอลกอฮอล์7,8

หรือการใช้ยาบางชนิดที่ส่งผลให้ระดับกรดยูริกในเลือดสูงขึ้น2

ในขณะที่ผู้ป่วยโรคเกาต์ไม่มีอาการปวดข้อจะเรียกว่า ระยะปลอดอาการ

(intercritical period) สุดท้ายหากปล่อยให้เกิดระดับกรดยูริกสูงบ่อยๆ

จะนำไปสู่โรคเกาต์ ระยะเรื้อรังที่มีก้อนโทฟัส (chronic tophaceous gout)

กลายเป็นข้ออักเสบเรื้อรังหลายๆ ข้อ

อาการอักเสบกำเริบรุนแรงมากบ้างน้อยบ้างสลับกันไป

และมีการทำลายของกระดูกข้อต่อเพิ่มมากขึ้น3

ยารักษาโรคเกาต์กำเริบเฉียบพลัน

ใช้เมื่อมีอาการปวด

เพื่อลดการอักเสบภายในข้อสามารถหยุดยาได้เมื่ออาการปวดข้อดีขึ้นแล้ว1,2

ยาที่ใช้เป็นส่วนใหญ่ ได้แก่

- ยาโคชิซิน (colchicine) ออกฤทธิ์โดยลดการอักเสบจากผลึกของกรดยูริก และลดการทำลายข้อกระดูกจากการทำงานของเม็ดเลือดขาว9

- ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal anti-inflammatory

drugs, NSAIDs) เช่น นาพรอกเซน (naproxen) อินโดเมทาซิน (indomethacin)

ออกฤทธิ์ต้านการอักเสบทำให้อาการปวดบวมข้อทุเลาลง9

- ยากลุ่มสเตียรอยด์ชนิดกิน (oral glucocorticoids) เช่น ยาเพรดนิโซโลน (prednisolone) ออกฤทธิ์ต้านการอักเสบ9

- ยารักษาโรคเกาต์อีกประเภทหนึ่ง คือยาลดกรดยูริก

ใช้เมื่อมีข้ออักเสบกำเริบเป็นๆ หายๆ บ่อยกว่า 2 ครั้งต่อปี

มีข้ออักเสบเรื้อรัง หรือมีปุ่มโทฟัสเกิดขึ้น

ยาประเภทนี้มีจุดประสงค์เพื่อละลายผลึกเกลือโมโนโซเดียมยูเรตออกจากเนื้อเยื่อและป้องกันไม่ให้ตกผลึกเพิ่มขึ้น

ดังนั้นผู้ป่วยจะต้องรับประทานไปตลอดชีวิต1 มีด้วยกัน 2 กลุ่ม ได้แก่

- กลุ่มยายับยั้งการสร้างกรดยูริก (uricostatic agents) 1,2

มีฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์ xanthine oxidaseได้แก่ อัลโลพิวรีนอล (allopurinol)

เฟบบูโซสตัท (febuxostat)

- กลุ่มยาเร่งการขับกรดยูริกทางไต (uricosuric agents) 1,2

ออกฤทธิ์โดยยับยั้งการดูดกลับของกรดยูริกผ่านหลอดไตฝอย

ทำให้กรดยูริกในเลือดลดลง ได้แก่ โพรเบเนซิด (probenecid)

ซัลฟินไพราโซน(sulfinpyrazone) เบนซ์โบรมาโรน (benzbromarone)

นอกจากการใช้ยาอย่างถูกต้องแล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมร่วมด้วยจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษาโรคเกาต์ให้ดียิ่งขึ้น เช่น

ลดการรับประทานอาหารที่มีพิวรีนสูง10 ซึ่งอาหารดังกล่าว ได้แก่

- สัตว์ปีก เช่น เป็ด ห่าน ไก่

- เครื่องในสัตว์ เช่น เซ่งจี้ ตับหมู มันสมองวัว ตับอ่อน ไต

- ปลาและสัตว์น้ำบางชนิด เช่น ปลาไส้ตัน ปลาอินทรีย์ ปลาซาร์ดีน ปลาดุก ไข่่ปลา กะปิ กุ้งชีแฮ หอย

- ผักและธัญพืชบางชนิด เช่น ชะอม กระถิน ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วแดง ถั่วดำ

- เห็ด ยีสต์

- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะเบียร์

พบว่าผู้ป่วยโรคเกาต์ที่ดื่มเบียร์มีความเสี่ยงต่อการเกิดอาการปวดเกาต์มากขึ้นประมาณ

2.5 เท่า

เนื่องจากในเบียร์มีพิวรีนปริมาณมากสามารถเปลี่ยนเป็นกรดยูริกได้8

นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคเกาต์ที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ

ร่วมด้วย และยาที่ใช้บางตัวอาจส่งผลให้ระดับกรดยูริกสูงขึ้นได้ เช่น

ยาขับปัสสาวะกลุ่ม thiazide ยาไซโคลสปอริน (cyclosporine)

ยาแอสไพรินขนาดต่ำ (ต่ำกว่า 1 กรัมต่อวัน)

จึงควรมีการติดตามระดับกรดยูริกในเลือดสม่ำเสมอ

โดยสรุปแล้วการดูแลโรคเกาต์นั้นไม่ยากหากผู้ป่วยมีความเข้าใจในตัวโรค

และการใช้ยาอย่างถูกต้องร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมควบคู่กันไป

จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถควบคุมอาการปวดข้อ ลดการรุดหน้าของโรคไม่ให้รุนแรง

และทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นอีกด้วย



บทความแนะนำ


ตำรวจหาดไร่เลย์ดูดวงความรักกระบี่ขุดหินถมหลุมดวงคู่รักลุลากัณยารัตน์ทรงผมทรงผมสั้นทรงผมประบ่าทรงผมถักเปียดูดวงดวงความรัก