หนุ่ม 51 กังวลหนัก หลังรับวัคซีนโควิด 2 เข็มคนละยี่ห้อกัน

อ่าน 5,198

หนุ่ม 51 กังวลหนัก หลังรับวัคซีนโควิด 2 เข็มคนละยี่ห้อกัน

ชายวัย 51 กังวลหนัก หลังได้รับวัคซีน 2 เข็มคนละยี่ห้อ เพิ่งรู้หลังเช็กเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน ล่าสุด สธ.เชียงใหม่ แจงแล้ว พิมพ์ข้อมูลผิดพลาด พร้อมเผยข้อมูล ฉีดวัคซีนคนละยี่ห้อเป็นอะไรไหม ?

จากกรณี ชายวัย 51 ปี ชาว จ.เชียงใหม่ เกิดความกังวลใจอย่างมาก ภายหลังฉีดวัคซีนโควิด 19 ครบ 2 เข็ม แต่มารู้ตัวว่าเข็มแรกกับเข็มที่ 2 เป็นวัคซีนคนละยี่ห้อกัน จึงโพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กระบุว่า “ครบ 4 วันแล้ว ผมรอดตายหรือยัง เข็มแรก ซิโนแวค เข็ม 2 AstraZeneca มีใครได้รับยาเหมือนผมบ้างครับ” ซึ่งมีคนเข้ามาแสดงความคิดเห็นจำนวนมาก ต่างอยากทราบว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร

จากใบรับรองการฉีดวัคซีนโควิด ที่โพสต์นั้น พบว่าเข้ารับการฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มแรกที่โรงพยาบาลนครพิงค์ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 และเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ตามนัดในวันที่ 11 มิถุนายน กระทั่งวันที่ 15 มิถุนายน เจ้าตัวเพิ่งสังเกตในเอกสารว่าเป็นวัคซีนคนละยี่ห้อ จึงกังวลว่าจะเกิดผลข้างเคียงกับตัวเองหรือไม

ล่าสุด (16 มิถุนายน 2564) รายการเรื่องเล่าเช้านี้ รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า คาดว่าเกิดจากความผิดพลาดในการพิมพ์เอกสาร เนื่องจากใน จ.เชียงใหม่ ยังไม่มีการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เข็มที่ 2 ให้ประชาชน แต่เจ้าหน้าที่พิมพ์ผิดเป็นแอสตร้าเซนเนก้า

อย่างไรก็ตาม ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยคลินิก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า ในทางการแพทย์ยังไม่มีผลการศึกษาในเรื่องการเปลี่ยนยี่ห้ออย่างชัดเจน ดังนั้นจึงแนะนำให้ฉีดยี่ห้อเดียวกัน ยกเว้นกรณีมีความจำเป็น เช่น ฉีดยี่ห้อหนึ่งไปแล้วเข็มแรกมีอาการแพ้ หรือผลข้างเคียงกัน ก็สามารถเปลี่ยนยี่ห้อในเข็มที่ 2 ได้

ขณะที่ ศ. นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยกตัวอย่างกรณี ฉีดวัคซีนซิโนแวคเข็มแรกไปแล้ว บางคนมีอาการแพ้ ไม่อยากฉีดวัคซีนซิโนแวค จึงเปลี่ยนมาฉีดแอสตร้าเซนเนก้าแทนในเข็มที่ 2 เมื่อตรวจภูมิต้านทานของคนกลุ่มนี้ 2 คน พบว่าดีมาก ภูมิต้านทานสูงกว่าการฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเข็มเดียวแน่นอน เพราะการฉีดซิโนแวคเข็มแรกก็เปรียบเสมือนการติดเชื้อไปแล้ว 1 ครั้ง แล้วการฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเป็นการกระตุ้นหลังการติดเชื้อ

“การให้วัคซีนซิโนแวคครั้งแรก เปรียบเสมือนหลอกว่ามีการติดเชื้อ การฉีดเข็มที่ 2 ถึงแม้ว่าจะเปลี่ยนยี่ห้อ ในทางปฏิบัติจะทำเมื่อจำเป็น แล้วก็ไม่ได้มีอันตรายอะไร ไวรัสไม่รู้หรอกว่าเราฉีดวัคซีนยี่ห้ออะไร” ศ. นพ.ยง กล่าว



บทความแนะนำ