เรื่องของ "เจ้าที่ "

อ่าน 5,558

"เจ้าที่" คำๆ นี้ ดูเหมือนว่า จะคุ้นเคยกันดีไม่ว่าจะเป็นคนไทย คนจีน ประเพณีปฏิบัติในการไหว้เจ้าที่ ถูกสืบทอดกันมาไม่รู้กี่ร้อยกี่พันปีมาแล้ว จนมาถึงปัจจุบันก็ยังปฏิบัติกันอยู่ การตั้งศาลเจ้าที่ จึงมักจะทำกันเป็นเรื่องปกติ

ศาลเจ้าที่ของคนไทย มักจะเรียกว่า "ศาลตา-ยาย" ซึ่งจะตั้งอยู่คู่กับศาลพระภูมิหลายคนคงเคยเห็น ส่วนศาลเจ้าที่ของคนจีนจะเรียกว่า "ตี่จูเอี๊ย" เป็นศาลที่ตั้งอยู่ภายในบ้าน วางอยู่ติดกับพื้นบ้าน สีแดงๆ คงจะนึกออกนะคะ "ศาลเจ้าที่จำเป็นจะต้องตั้งหรือไม่ ถ้าไม่ตั้งจะเกิดอะไรขึ้น??"

ก่อนอื่นคงทำความเข้าใจคำว่า "เจ้าที่" กันก่อนนะคะ ความหมายของเจ้าที่ ก็คือ เจ้าของที่ดินที่เราเข้าไปอาศัยอยู่ หรือปลูกบ้านบนที่ดินนั้น เจ้าของที่ดินในที่นี้ หมายถึง เจ้าของที่ดิน (เดิม) ที่ตายไปแล้วนะคะ ไม่ใช่คนเป็น อย่างหมู่บ้านที่เราไปซื้อบ้านอยู่ ซึ่งในหมู่บ้านนั้นอาจมีบ้านเป็นร้อยๆ หลัง เจ้าที่อาจมีเพียงคนเดียวก็ได้

เพราะฉะนั้น ไม่จำเป็นว่า บ้านทุกหลังจะต้องมีเจ้าที่ หลายคนเข้าใจผิดคิดว่า บ้านร้อยหลังก็ต้องมีเจ้าที่ร้อยตน นั่นเป็นความเข้าใจที่ผิดอย่างมาก ดิฉันเองได้เคยถามผู้รู้หลายต่อหลายคน เกี่ยวกับเจ้าที่ก็ได้รับคำอธิบายว่า เจ้าที่ จะมีอยู่ 2 ประเภทคือ เจ้าที่แท้ กับเจ้าที่จร

"เจ้าที่แท้" ก็คือ ผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินเดิม เมื่อตายไปแล้วก็ยังเฝ้าที่ดินของตัวเองอยู่ ไม่ยอมไปเกิด ประเภทปู่โสมเฝ้าทรัพย์ เมื่อมีคนเข้าไปอยู่ก็ต้องทำพิธีขออนุญาต และตั้งศาลเจ้าที่บูชาเพื่อแสดงความเคารพต่อเจ้าของสถานที่

"เจ้าจร" คือ วิญญาณเร่ร่อนอยู่บริเวณนั้น เมื่อเจ้าที่เดิมไปเกิดแล้ว ที่บริเวณนั้นก็กลายเป็นที่สาธารณะ พวกวิญญาณเหล่านี้ ก็สามารถเข้าไปจับจองพื้นที่ อาจเข้าไปอยู่บ้านโน่นบ้านนี้ บ้านไหนเลี้ยงดูดีก็อาจจะขออยู่ประจำบ้านหลังนั้น กลายเป็นเจ้าที่บ้านนั้นไป

บ้านบางหลังที่มีการตั้งศาลเจ้าที่ (ตี่จูเอี๊ย) เมื่อไปตรวจเช็คดูแล้ว อาจไม่มีเจ้าที่อยู่เลยก็มีให้เห็นกันอยู่บ่อยๆ พูดง่ายๆ มีแต่ศาลเปล่าๆ ไม่มีวิญญาณสิงสถิตอยู่ ซึ่งอาจจะเข้าข่ายประเภทเจ้าที่จร การกราบไหว้บูชาก็อาจจะไม่มีผลอะไรเกิดขึ้น

กรณีที่เป็นการอยู่อาศัยในหมู่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่จะมีศาลเจ้าที่ของหมู่บ้านเป็นศาลกลางที่คนในหมู่บ้านสามารถกราบไหว้บูชาได้ กรณีนี้การตั้งศาลเจ้าที่ภายในบ้าน อาจไม่จำเป็นต้องตั้งก็ได้ เพราะถือว่า มีศาลเจ้าที่ใหญ่ให้กราบไหว้อยู่แล้ว

แต่ถ้าเป็นกรณีที่ไปสร้างบ้านอยู่ในพื้นที่อื่นๆ การตั้งศาลอาจมีความจำเป็นเพราะเราไม่รู้ว่า มีเจ้าที่อยู่หรือไม่ ยิ่งถ้าเป็นพื้นที่ ที่มีสภาพแวดล้อมที่เป็นหยินมากๆ เช่น เป็นที่เปลี่ยว รกร้าง ใกล้วัด มีต้นไม้ใหญ่ปกคลุมรอบๆ บริเวณบ้าน ก็ให้สันนิฐานเอาไว้ก่อนว่า มีวิญญาณอยู่บริเวณนั้น ซึ่งอาจจะเป็นเจ้าที่แท้หรือจร ก็แล้วแต่

การตั้งศาลเจ้าที่นั้น สิ่งที่จะต้องคำนึงถึง ก็คือ การหาตำแหน่งการตั้งศาลที่ถูกต้อง เพราะถ้าตั้งผิดตำแหน่งผิดที่ อาจส่งผลกระทบได้ ลักษณะชัยภูมิที่ถูกต้องของการตั้งศาล จะต้องเป็น ดังต่อไปนี้

1. การตั้งตรงกับประตูทางเข้าบ้าน ตำแหน่งศาลที่ถูกต้อง เวลาเดินเข้าบ้านจะต้องมองเห็นทันที ซึ่งตำแหน่งที่ตรงกับประตูถือเป็นตำแหน่งที่ดีที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะวางตำแหน่งนี้กันอยู่แล้ว แต่จะมีบางกรณีเท่านั้น ที่ศาลเจ้าที่อาจวางตำแหน่งอื่น เช่น ด้านข้างของตัวบ้าน ซึ่งมักจะเป็นการวางเพื่อแก้ไขฮวงจุ้ยมากกว่า

2. ห้ามวางศาลหลบมุม หรือมีสิ่งของมาปิดบังหน้าศาล บริเวณหน้าศาลเจ้าที่จะต้องมีพื้นที่โล่ง ห้ามมีสิ่งใดมาปิดบัง บางบ้านเอาศาลไปวางหลบอยู่ด้านหลังบ้าน เดินเข้าบ้านมองไม่เห็นศาล ลักษณะแบบนี้ก็เข้าข่ายวางศาลผิด

3. ห้ามวางศาลพิงห้องน้ำ นี่ถือเป็นตำแหน่งต้องห้ามเลยทีเดียว เพราะศาลเจ้าที่ถือเป็นธาตุไฟ เมื่อนำไปพิงห้องน้ำ (ธาตุน้ำ) ก็เท่ากับเอาน้ำไปพิฆาตไฟ ความศักดิ์สิทธิ์ของศาลก็จะเสื่อมถอยลง หลายบ้านที่วางแบบนี้ มักจะไม่มีเจ้าที่ มีแต่ศาลเปล่าๆ ตั้งอยู่เท่านั้น

4. ห้ามวางศาลใต้บันได หรือบริเวณทางขึ้นลงบันได กรณีแบบนี้จะพบบ่อยสำหรับอาคารพาณิชย์ ที่หาตำแหน่งในการวางเจ้าที่ค่อนข้างยาก เพราะพื้นที่มีน้อย บริเวณบันไดจะก่อสภาพที่เคลื่อนไหว ศาลเจ้าที่ต้องการความนิ่งสงบ การเอาศาลไปวางบริเวณบันได ไม่ว่าจะเป็นใต้บันได หรือทางขึ้นลงบันได ก็เท่ากับรบกวนเจ้าที่โดยตรง ตำราฮวงจุ้ยบอกว่า เจ้าที่มักไม่ค่อยอยู่บ้าน (ชอบเที่ยว)

5. ห้ามวางศาลใต้คาน ศาลจะถูกคานกดทับ ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของศาลลดทอนลงไปได้เช่นเดียวกัน

การตั้งศาลเจ้าที่ภายในบ้าน มีเงื่อนไขค่อนข้างจะมาก จึงมีคำกล่าวว่า ถ้าไม่มีตำแหน่งที่เหมาะสม ก็ไม่ควรตั้งศาล เพราะถ้าตั้งอาจจะส่งผลเสียมากกว่าผลดี การไม่ตั้งศาลเจ้าที่ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไร หลายคนกลัวมากจนเกินเหตุ บ้านที่ไม่มีศาลใช้วิธีไหว้เจ้ากลางแจ้งในช่วงเทศกาลต่างๆ แทนก็ได้

กรณีที่ตั้งศาลเจ้าที่แล้วไม่ดูแล ปล่อยศาลทิ้งร้างไม่เคยกราบไหว้บูชาเลย อย่างนี้ก็อย่าตั้งเสียดีกว่า ถ้ารู้ว่าตัวเองไม่มีเวลา เพราะถ้าเจอเจ้าที่ประเภทจู้จี้ เจ้าระเบียบ ก็อาจจะเจอดีโดนเจ้าที่เล่นงานเอา ทำให้ป่วยบ้าง ทำให้ทะเลาะกันบ้าง หรือไม่ก็ทำให้ลูกจ้างเข้าๆ ออกๆ จนเจ้าของบ้านปวดหัวได้

สรุปก็คือ การจะตั้งศาลเจ้าที่หรือไม่นั้น ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร ลองถามตัวเองดูว่าอยากตั้งหรือไม่ ถ้าไม่อยากก็ไม่ต้องตั้ง เพราะถ้าฝืนใจตั้งไปแล้วไม่เคารพบูชา ปล่อยปะละเลย

ก็จะเกิดผลเสียมากกว่า ศาลเจ้าที่เป็นเรื่องของความเชื่อและความศรัทธา ถ้าเจ้าบ้านไม่มีตรงนี้ก็ไร้ประโยชน์ครับ ถ้าอยากตั้งก็ต้องทำให้ถูก ถ้าไม่ถูกก็มีปัญหาเช่นเดียวกัน ลองพิจารณาดูนะคะว่า ควรตั้งศาลเจ้าที่หรือไม่ คำตอบอยู่ที่ตัวเราเองคะ



บทความแนะนำ


เมย์สิรินทร์แอร์ภัณฑิราดาร์ลิ่งอารดาข่าวบันเทิงวันนี้เอ๋พรทิพย์ผู้หญิงป๋อณัฐวุฒิความสวยความงามทรงผมทรงผมสั้นทรงผมประบ่าทรงผมถักเปียดูดวงดวงความรัก