กำไลมาศ 5 แผ่นดิน "ม.ร.ว.สดับ" สนมเอกที่ ร.5 พระราชทานกำไลสำคัญให้ สวมไว้จนวาระสุดท้ายของชีวิต

อ่าน 5,273

"แม้รักร่วม สวมไว้ ให้ติดกาย

เมื่อใดวาย สวาสดิ์วอด จึงถอดเอย"

ข้อความด้านบนนี้ คือ บทกลอนที่ถูกสลักไว้บริเวณด้านบนของกำไลที่รัชกาลที่ 5

มอบให้ "เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์" (เจ้าจอม หมายถึง

ภรรยาที่เป็นสามัญชนของพระมหากษัตริย์)

ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

ผู้ซึ่งเป็นที่มาของ.. ตำนานความรักกำไลมาศ 5 แผ่นดิน

ที่สวมไว้จนวาระสุดท้ายของชีวิต

เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ลดาวัลย์ เมื่อท่านมีอายุได้ 11 ปี

หม่อมยายได้พาท่านไปถวายตัวเป็นข้าหลวงในตำหนักพระวิมาดาเธอ

กรมพระสุทธาสินีนาฏ ปิยมหาราชปดิวรัดา (พระอรรคชายาในรัชกาลที่ 5)

โดยพระองค์ได้ทรงอบรมเลี้ยงดูหม่อมราชวงศ์สดับอย่างดี ทั้งเรียนหนังสือ

งานฝีมือ ตลอดจนการอาหารคาวหวานจนเชี่ยวชาญ

จนกระทั่งได้ถวายตัวเป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

รัชกาลที่ 5 ในเวลาต่อมา

ใการบันทึกไว้ว่า วันที่ท่านมีความสุขที่สุด คือ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.

2449

เมื่อท่านได้เข้าปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าจอมในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ท่านได้รับพระราชทาน "กำไลมาศ" จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ซึ่งเป็นกำไลทองคำแท้ เป็นรูปตาปูโบราณสองดอกไขว้กัน

ปลายตาปูเป็นดอกเดียวกัน

และบริเวณด้านบนของกำไลมีสลักบทกลอนพระราชนิพนธ์ในสมเด็จรัชกาลที่ 5

ไว้ว่า...

กำไลมาศ ชาตินพ คุณแท้ ไม่ปรวนแปร เป็นอื่น ยั่งยืนสี

เหมือนใจตรง คงคำ ร่ำพาที จะร้ายดี ขอให้เห็น เช่นเสี่ยงทาย

ตาปูทอง สองดอก ตอกสลัก ตรึงความรัก รัดไว้ อย่าให้หาย

แม้รักร่วม สวมใส่ ไว้ติดกาย เมื่อใดวาย สวาสดิ์วอด จึงถอดเอย

วันนี้ถือว่าเป็นวันที่ท่านมีความสุขมากที่สุด และทั้งตลอดชีวิตของท่าน

เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ มิได้ถอดกำไลมาศชิ้นนี้ออกจากข้อมือเลย

จนเมื่อวาระสุดท้ายของชีวิต หม่อมหลวงพูนแสง สูตะบุตร

ผู้เป็นหลานสาวจึงเป็นผู้ที่ถอดออกให้และได้ถวาย "กำไลมาศ" ชิ้นนี้

แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ในงานพระราชทานเพลิงศพของเจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับนั้นเอง

--------------------------------------------------------------------------

กำไลมาศ ชาตินพ คุณแท้

ไม่ปรวนแปร เป็นอื่น ยั่งยืนสี

ขอเล่าย้อนไปถึงชีวิตหลังการถวายตัวเป็นเจ้าจอมของท่าน

โดยหลังจากเข้าถวายตัวเป็นข้ารับใช้ได้ราว 8 เดือนกว่าๆ

วันที่หม่อมราชวงศ์ได้เล่าว่าเป็นวันที่ทุกข์ที่สุดก็เกิดขึ้น

เมื่อถึงวันที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องเสด็จประพาสยุโรปในปี

พ.ศ. 2450 เป็นเวลากว่า 225 วัน โดยก่อนรัชกาลที่ 5

จะเสด็จพระราชดำเนินนั้น มีพระราชดำริที่จะให้เจ้าจอมสดับตามเสด็จไปด้วย

แต่มีเหตุขัดข้อง จึงมิอาจเป็นไปตามพระราชดำรินั้นได้

แต่กระนั้น พระองค์ได้รับพระราชหัตเลขา (จดหมาย)

จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้ารัชกาลที่ 5

ส่งมาถึงท่านทุกสัปดาห์ตลอดการเสด็จประพาส

ครั้นเมื่อได้รับลายพระราชหัตถเลขาแล้ว ท่านก็แสดงอาการดีใจออกมาทุกครั้ง

จนกระทั่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้ารัชกาลที่ 5 เสด็จกลับถึงพระนคร

ก็ทรงซื้อเครื่องเพชรมาพระราชทาน

โปรดให้แต่งเครื่องเพชรแล้วให้ช่างถ่ายรูปชาวต่างชาติถ่าย

โดยทรงพระกรุณาจัดท่าพระราชทาน และโปรดพระราชทานตู้ที่ระลึกอีกด้วย

และที่สำคัญที่สุดยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ

สถาปนาท่านเจ้าจอมขึ้นเป็นพระสนมเอก

อันเป็นตำแหน่งที่แม้เจ้าจอมมารดาบางท่านรับราชการมาช้านานยังไม่ได้รับพระราชทาน

แต่ท่านซึ่งเป็นเพียงเด็กสาววัยรุ่น

และเพิ่งเข้ามารับราชการไม่นานนักกลับได้รับพระเมตตาไว้ในตำแหน่งที่สูงถึงเพียงนี้

ยิ่งก่อให้เกิดความริษยาจากคนรอบข้าง ด้วยวัยเพียง 17 ปี

จนมีอยู่ครั้งหนึ่งท่านทนการกล่าวร้ายจากคนรอบข้างไม่ได้

ตัดสินใจดื่มน้ำยาล้างรูป หมายจะทำลายชีวิตตนเอง

แต่แพทย์ประจำพระองค์ช่วยชีวิตไว้ได้ทัน

น่าเสียดาย ที่หลังจากรัชกาลที่ 5 เสด็จกลับมาไม่ถึง 3 ปี ก็สิ้นพระชนม์

เวลาแห่งความสุขของเจ้าจอมขึ้นและตกเร็วมาก นับแต่วันที่ 23 ตุลาคม 2453

หัวใจของเจ้าจอมก็หลุดลอยตามพระพุทธเจ้าหลวงไปนิรันดร์

"ข้าพเจ้าไม่มีใจเหลือเศษที่จะรักผู้ชายใดอีกต่อจนตลอดชีวิต"

โดยครั้งสุดท้ายที่เจ้าจอมสดับได้มีโอกาสสนองพระเดชพระคุณคือ

การเป็นต้นเสียงนางร้องไห้หน้าพระบรมศพ

หลังจากนั้นอีกไม่นาน

ท่านได้ถวายคืนเครื่องเพชรทั้งหลายที่ได้รับพระราชทานมา

แด่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

จนหมดสิ้นเพื่อลบคำนินทาของเหล่าคนในวังที่มักพูดว่า

ท่านเป็นหม้ายตั้งแต่ยังสาว แก่ตัวไปคนขายเครื่องเพชรต่างๆ แน่ ทางสมเด็จฯ

ก็ได้ทรงรับไว้แล้วโปรดเกล้าฯ ให้นำเครื่องเพชรดังกล่าวไปขายที่ยุโรป

แล้วนำเงินมาสมทบทุนสร้างโรงพยาบาลซึ่งคือ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในปัจจุบัน

และหลังจากนั้นท่านได้หันไปยึดมั่นในพระพุทธศาสนา (บวชชี) ที่วัดเขาบางทราย

จ.ชลบุรี (บางหลักฐานระบุว่าเป็นวัดแห่งหนึ่งในจังหวัดราชบุรี)

เพื่ออุทิศผลบุญนั้น

น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่สวามีที่รักยิ่งนั้นเอง

จนเมื่อท่านเจ้าจอมนั้นมีวัยชราแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9

และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ

ได้พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ให้ท่านกลับเข้ามาอยู่ในพระบรมมหาราชวัง

และในช่วงเวลานี้เองที่ท่านได้มีโอกาสทำคุณประโยชน์อีกครั้ง

ได้ถ่ายทอดความรู้ต่างๆ ให้แก่ชนรุ่นหลัง ทั้งการทำอาหาร งานฝืมือ

จนถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2526 สิริรวมอายุได้ 93 ปี

ตลอดชีวิตของท่าน เจ้าจอมสดับได้สวม "กำไลมาศ"

กำไลทองคำที่ได้รับพระราชทานไว้ที่ข้อมือตลอดเวลา ตามคำมั่นสัญญา

และพระประสงค์ของรัชกาลที่ 5 ที่สลักไว้รอบกำไลว่า...

"แม้รักร่วมสวมไว้ให้ติดกาย เมื่อใดวายสวาสดิ์วอดจึงถอดเอย"

ปัจจุบัน "กำไลมาศ" กำไลทองคำพยานรักพระราชทานชิ้นนี้ ได้ถูกเก็บรักษาไว้ที่พระที่นั่งวิมานเมฆจนถึงปัจจุบัน

เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ในรัชกาลที่ 5

เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับ ในรัชกาลที่ 5

กำไลมาศ ทำเป็นรูปตาปูโบราณสองดอกไขว้กัน ปลายตาปูเป็นดอกเดียวกัน

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

พระราชทานพระมหากรุณาให้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

รับพระราชทานน้ำสังข์เนื่องในโอกาสที่อายุครบ 80 ปี

เจ้าจอมหม่อมราชวงศ์สดับไปวางศิลาฤกษ์ฐานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

บริเวณหน้าที่ว่าการอำเภอบางละมุง

เป็นภารกิจสุดท้ายที่เจ้าจอมสดับได้สนองพระมหากรุณาธิคุณ

เจดีย์เก็บอัฐิของท่าน เจ้าจอม ม.ร.ว.สดับ ลัดดาวัลย์ อยู่ที่วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร

กำไลมาศ เครื่องหมายแห่งความรัก และภักดีที่ยาวนานกว่า 5 แผ่นดิน

คำมั่นสัญญาและพระประสงค์ของรัชกาลที่ 5 ที่สลักไว้บนกำไล

หม่อมราชวงศ์สดับ และกำไลมาศพระราชทานที่ใส่ในข้อมือจนวาระสุดท้ายของชีวิต

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก วิกิพีเดีย และ

http://www.oknation.net/blog/print.php?id=409462

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2008/04/K6545948/K6545948.html

http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2012/05/K12131630/K12131630.html



บทความแนะนำ


ความรักการศึกษาชีวิตคู่ฮิปสเตอร์เชียงใหม่ยุคสมัยการจีบทรงผมทรงผมสั้นทรงผมประบ่าทรงผมถักเปียดูดวงดวงความรัก