สัมผัส 3 โครงการหลวง บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 118

อ่าน 8,442

ความสุขปนรอยยิ้มจากเมล็ดพันธุ์ของ "พ่อ" (อ.ส.ท.)

ปณต คูณสมบัติ...เรื่อง สายัณห์ ชื่นอุดมสวัสดิ์...ภาพ

เคยสังเกตไหมว่าเมล็ดพันธุ์ตามร้านค้าที่เราซื้อมาปลูก พืชพรรณชุดแรกจะผลิดอกออกผลสมบูรณ์ดีมาก แต่เมื่อผลแห้งไปจนเมล็ดร่วงหล่นลงมา แล้วนำเมล็ดนั้นมาปลูกอีกครั้งหนึ่งกลับกลายเป็นว่าให้ผลแย่ โตช้ากว่าเดิม หรืออาจถึงขั้นปลูกไม่ขึ้นอีกเลย สาเหตุนั้นมาจากการตกแต่งพันธุกรรมให้เมล็ดกลายเป็นหมัน ปลูกได้แค่ครั้งเดียว เพื่อหวังผลในเชิงธุรกิจนั่นเอง ทว่าเมล็ดพันธุ์ของ "พ่อ" นั้นตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิง

"ช่วยชาวเขา ช่วยชาวเรา ช่วยชาวโลก" จากพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่พระองค์ทอดพระเนตรเห็นชีวิตความเป็นอยู่และการประกอบอาชีพปลูกฝิ่นของชาวไทยภูเขา พระองค์จึงมีพระราชดำริที่ต้องการให้วิถีความเป็นอยู่ของชาวไทยภูเขาในพื้นที่ดีขึ้นและยิ่งยืน ด้วยการสร้างเกษตรแผนใหม่ ทดแทนการปลูกฝิ่นและการตัดไม้ทำลายป่า จึงก่อให้เกิดโครงการหลวงขึ้น เพื่อค้นคว้าวิจัยหาพืชพรรณที่เหมาะสมมาให้ชาวไทยภูเขา โครงการปลูกพืชทดแทนฝิ่นโครงการแรกของโลกจึงถือกำเนิดขึ้น

ผ่านมา 40 กว่าปี พื้นที่ทำงานของโครงการหลวงขยายเพิ่มขึ้น ชาวไทยภูเขาเห็นความสำคัญของป่าไม้ต้นน้ำลำธาร ประโยชน์จากการปลูกพืชเมืองหนาว ทั้งผัก ผลไม้ และดอกไม้ ชนิดต่าง ๆ จึงทำให้ไร่ฝิ่นหมดไป ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงหลายแห่งกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจของนักท่องเที่ยว เพราะตั้งอยู่บนภูเขาที่มีทิวทัศน์สวยงาม อากาศหนาวเย็น และมีพืชผลเมืองหนาวให้รับประทานกันสด ๆ การท่องเที่ยวจึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผู้คนรู้จักงานของโครงการหลวง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชมีพระราชประสงค์ให้ทำงานแบบปิดทองหลังพระมาโดยตลอด

พระองค์คือผู้ซึ่งทำให้เราได้กระจ่างในความหมายของคำว่า "พระเจ้าแผ่นดิน" อย่างแท้จริง

สายพระเนตรทอดยาว บนเส้นทางหลวง 118

พาหนะขับเคลื่อนสี่ล้อสัญชาติญี่ปุ่นกำลังนำพาเราออกจากสี่แยกสัญญาณไฟจราจรของตัวเมืองเชียงใหม่ มุ่งหน้าออกนอกเมือง สองข้างทางท้องนาสีเหลืองผืนใหญ่ไกลสุดตา ต้นข้าวออกรวงอัดแน่นไปด้วยเมล็ดข้าวรอการเก็บเกี่ยว อีกไม่นานของขวัญจากฟ้าดินจะทำให้รอยยิ้มบนใบหน้ากระดูกสันหลังของชาติกลับมาอีกครั้ง

ผ่านจากอำเภอดอยสะเก็ดเข้าสู่เส้นทางหลวงหมายเลข 118 (เชียงใหม่-เชียงราย) ถนนเริ่มคดโค้งไปตามหุบเขาที่ขึ้นซ้อนกันไปมา อากาศนอกตัวรถเริ่มเย็นลง ต้นกาแฟที่ปลูกตามใต้ต้นไม้ใหญ่เริ่มปรากฏพร้อมกับไอหมอกบาง ๆ ติดตามกระจกรถจนขึ้นฝ้า

"กิโลเมตรที่ 63-64 แล้วเลี้ยวขวาครับ" ผมบอกช่างภาพผู้นั่งอยู่หลังพวงมาลัยเพื่อไปสู่จดหมายแรก ลึกเข้าไปประมาณ 9 กิโลเมตร ผ่านน้ำตกเมืองน้อย สายน้ำไหลลัดเลาะผ่านหน้าผาสูงชัน ก่อนตกลงสู่แผ่นหิน เกิดลำห้วยหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนที่นี่ รวมถึงศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำริน ที่ใช้น้ำจากน้ำตกสายนี้ในการอุปโภค บริโภค ผลิตผลต่าง ๆ ที่ได้มาจากน้ำพักน้ำแรงของชาวบ้าน ทั้งไม้ดอก ไม้ประดับ และไม้ใบ ที่โครงการหลวงส่งเสริม แนะนำ และถ่ายทอดความรู้ให้แก่ชาวบ้าน ทำให้พวกเขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ผลลัพธ์คุ้มค่าและยืนยาว ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทุกประการ

ระหว่างชาวบ้านกับโครงการหลวงนั้น ความเกี่ยวข้องอีกอย่างหนึ่งที่จะลืมไม่ได้เลยก็คือ "ต้นทุน" เพราะค่าใช้จ่ายในแต่ละครั้งที่ชาวบ้านจะเริ่มเพาะปลูกนั้น มีตั้งแต่ค่าอุปกรณ์ ค่าปุ้ย ค่าน้ำมัน ฯลฯ ล้วนเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง ชาวบ้านบางรายที่มีทุนทรัพย์น้อยก็ต้องยอมกู้หนี้ยืมสินจากนายทุนนอกระบบ และยังต้องลุ้นโชคชะตาตัวเองว่าผลิตผลจะคุ้มกับทุนที่กู้ยืมหรือไม่ ดังนั้นโครงการหลวงจึงตั้ง "กองทุน" ให้ชาวบ้านสามารถกู้เงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่าย ค่าอุปกรณ์ในการเพาะปลูก โดยมีพันธสัญญาว่าผลิตผลที่ได้มาต้องส่งเข้าโครงการหลวง เป็นการหักค่าใช้จ่ายจากเงินที่กู้ยืมมา ซึ่งดีกว่ากู้นายทุนนอกระบบที่นับวันดอกเบี้ยจะสูงกว่าเงินต้นทุนเสียอีก

"เป็นระบบซึ่งกันและกันครับ ได้เยอะได้น้อยก็แล้วแต่ปี แต่ขาดทุนไม่มี" พูลศักดิ์ ถิ่นอ้าย เจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ห้วยน้ำรินยืนยัน เขาเล่าต่อว่าโครงการหลวงในแต่ละที่นั้น พืชพรรณและเมล็ดพันธุ์จะแตกต่างกัน เพราะต้องเอาภูมิประเทศและภูมิอากาศของแต่ละสถานที่เป็นหลักในการเลือกเมล็ดพันธุ์มาวิจัยพัฒนาก่อนจะนำมาแจกจ่ายให้ชาวบ้านต่อไป

"สำหรับโครงการนี้ พระเอกของเราคือเฟินครับ" เขาทิ้งท้ายอย่างภาคภูมิใจ เนื่องจากพื้นที่อยู่ในหุบเขา ทำให้เหมาะต่อการปลูกเฟินที่ชอบความชื้นสูง อากาศถ่ายเทได้สะดวก และแสงแดดไม่มากไม่น้อยเกินไป จึงไม่น่าแปลกใจที่ระหว่างทางเข้ามาในศูนย์พัฒนาฯ จะเห็นสแลนกันแดดสีดำทอดตัวเป็นแนวยาวไล่ตามเนินเขา เพราะต้องการลดความเข้มข้นของแสงแดดในเวลากลางวันและควบคุมความชื้นในเวลากลางคืน ทำให้ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำรินแห่งนี้เป็นแหล่งผลิตเฟินหนังและเฟินเขากวางที่สามารถส่งเข้าโรงการหลวงปริมาณมากที่สุด เพราะให้ผลิตผลสูงและต่อเนื่องตลอดทั้งปี อีกทั้งดูแลรักษาง่าย ถือเป็นไม้ใบที่สร้างรายได้ให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ศูนย์ฯ ห้วยน้ำรินอย่างมาก

การเก็บเกี่ยวใบเฟินนิยมเก็บในเวลาเช้า หลังจากปลูกเฟินได้ประมาณ 4-6 เดือน ก็สามารถเก็บใบเฟินจำหน่ายได้ โดยเลือกจากใบและสีของเฟินเป็นหลัก ใบต้องสมบูรณ์ ยอดใบไม่ขาด และสีของใบต้องเขียวเข้มเท่ากัน ไม่ไหม้คล้ายสีสนิม ใช้กรรไกรตัดบริเวณโคนก้านใบทีละก้าน แล้วนำมามัดรวมกันเป็นกำประมาณ 10 ใบ ก่อนนำไปส่งโครงการหลวงเพื่อคัดแยกเกรด โดยมีตั้งแต่เกรด 3 2 1 และเอ็กซ์ตราตามลำดับ

"บ่ว่าจะเป๋นไม้ดอกหรือไม้ใบ ถ้าแจ้น้ำผสมน้ำตาล มันก็ยะหื้องามขนาด งามเมิน" ภูมิปัญญาชาวบ้านจากการบอกเล่าของ ลุงแอร์ กันถา เกษตรกรบนพื้นที่สูงบ้านห้วยน้ำริน ทำให้คุณภาพใบเฟินในแปลงได้เกรดเอ็กซ์ตรามาโดยตลอด และส่งผลย้อนคืนให้คุณภาพชีวิตของเขาดีขึ้นมาตลอดเช่นกัน

ประสบการณ์บวกความมุ่งมั่นนั้นให้ผลงดงามเสมอ

ห่างจากบ้านห้วยน้ำรินกลับสู่เส้นทางหลวงสายหลักหมายเลข 118 ขึ้นมาอีก 1 กิโลเมตร คือที่ตั้งของศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย ย้อนกลับไปในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2527 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จแทนพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเยี่ยมศูนย์ฯ ห้วยโป่งเป็นครั้งแรก เพื่อติดตามงานและดำเนินงานโครงการวิจัยและพัฒนาวิธีการส่งเสริมเกษตรที่สูง ที่ถือกำเนิดมาตั้งแต่ พ.ศ. 2525 พร้อมกับศูนย์ฯ ห้วยน้ำริน โดยทำการทดลองปลูกพืชไร่ พืชผัก ไม้ดอก ไม้ผล เสาะหาพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่และภูมิอากาศ หลังจากนั้น 3 ปี จึงเริ่มดำเนินการส่งเสริมด้านการเกษตรมาจนถึงปัจจุบันนี้ โดยเน้นงานส่งเสริมอาชีพเกษตรกรรมให้ชาวบ้านทำการเกษตรแบบถาวร

พื้นที่เสื่อมโทรมในอดีตถูกแปรสภาพเป็นผืนมาสีเขียวจี เป็นแปลงพืชผักหลากหลายสายพันธุ์ รวมทั้งดอกไม้เมืองหนาวต่าง ๆ และผลไม้ตามฤดูกาล

"เฮาเลือกผักกาดพันธุ์จ๊างแดง" บุญส่ง น่ารัก ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในที่ราบระหว่างเขาของบ้านห้วยโป่งเล่าว่า ปกติแล้วผักกาดหอมสามารถปลูกได้ทุกฤดู แต่จะให้ผลผลิตดีที่สุดในฤดูหนาว เนื่องจากผักกาดหอมจะแตกใบซ้อนหลายชั้น หรือเรียกว่า "เข้าหัวช้า" ทำให้ได้น้ำหนักดี ใบสวยสดน่ากิน นอกจากพันธุ์ข้างแดงแล้ว ยังมีพันธุ์สุกี้ 60 พันธุ์ข้าง 525 เหมาะกับสภาพพื้นที่ที่มีความสูงต่ำกว่า 1,000 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง ทางศูนย์ฯ ห้วยโป่งได้วิจัยพัฒนาและแจกจ่ายต้นกล้าให้ชาวบ้านคนละ 15 ถาด ในแต่ละถาดจะมีต้นกล้าอยู่ 104 ต้น โดยชาวบ้านสามารถเลือกพันธุ์ที่ตัวเองต้องการได้ตามใจชอบ

"พอหดน้ำนะ โตเอาโตเอา ลู่กันใหญ่" แกบอกพลางยิ้มอย่างอารมณ์ดี

ปัจจุบันการศึกษาให้ความรู้เรื่องการเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างแพร่หลาย จากภูมิปัญญาบรรพบุรุษ ผนวกกับความรู้จากตำราในชั้นเรียน ลึกเข้าไปในหุบเขาบ้านห้วยโป่ง ท่ามกลางไร่ข้าวโพดและถั่วแดงหลายล้านต้นบนภูเขาสูง หมู่บ้านชาวมูเซอดำรุ่นใหม่ในวันนี้ นำความรู้ที่ตกผลึกไปพัฒนาท้องถิ่นของตนเองอย่างน่าชื่นชม และยังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณีอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยภูเขาเผ่าต่าง ๆ ความเชื่อในการนับถือผี และความศักดิ์สิทธิ์ของพลังธรรมชาติ

สภาพแวดล้อมที่อยู่ใกล้ธรรมชาติทำให้เราถ่อมตัวลง เข้าใกล้ "ผู้อื่น" มากขึ้น

"อะตุกุปือ" ผมกล่าวสวัสดีตามภาษามูเซอดำที่เจ้าหน้าที่ได้สอนก่อนหน้านี้ จากการทักทายนำไปสู่การพูดคุยและเชิญชวนเข้าไปในเรือนบ้านที่สร้างด้วยเสาไม้ 4 ต้น ผนังทำจากไม้ไผ่สานให้ขบกัน มุงหลังคาด้วยหญ้าแฝกหรือหญ้าคา ด้านในมีเตาไฟก่อไว้กลางบ้านสำหรับให้ความอบอุ่นและหุงต้มอาหาร บริเวณชานหน้าบ้านมีรูปของ "พ่อ" ผู้รักและเอื้อเฟื้อ โดยไม่แบ่งแยกว่าลูกจะเป็นใครมาจากไหน ชาติพันธุ์ใด

ทำให้นึกถึงเรื่องเล่าชวนอมยิ้มตอนหนึ่งเกี่ยวกับ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี องค์ประธานมูลนิธิโครงการหลวง ที่ทรงสัมผัสชีวิตชาวไทยภูเขาเผ่ามูเซอ จากหนังสือ 38 เส้นทางความสุข 38 โครงการหลวง ใจความว่า "ชาวมูเซอเข้านอนเป็นคู่ ๆ รอบกองไฟรัศมีวงกลม ครั้งหนึ่งหม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ต้องอาศัยพักแรมด้วย แต่ก็ทรงนอนไม่หลับเนื่องจากเสียงจ้อกแจ้กจอแจ ครั้นพอได้เวลานอน ท่านก็หลงดีใจว่าจะได้หลับเต็มตาเสียที ปรากฏว่าพื้นเรือนนั้นเขย่าไม่หยุด บ้านสั่นไหวต่อไปเป็นลูกโซ่จนครบคู่หมดทั้งวงกลมนั้น เมื่อพื้นเขย่าครบทิศแล้ว ท่านภีจึงโล่งใจในที่สุดว่าจะได้นอนจริง ๆ เสียที หากแต่เรือนทั้งหลังกลับเขย่าแทนเพราะม้าที่ผูกไว้เกิดดันเอาสีข้างถูเสาเรือน หมูจึงตกใจตื่นร้องอู๊ด ๆ ปลุกให้หมาลุกขึ้นมาเห่า ตามด้วยเสียงมูเซอกรน นกฮูกร้อง และผู้หญิงที่เริ่มตื่นออกไปตำข้าวดังตึ้ก ๆๆ กระทั่งใกล้สว่าง ไก่จึงขันปลุกพอดี"

ก่อนจะจากลา เราเดินตามหลังชายชาวมูเซอดำเข้าไปในไร่ผักปลอดสารพิษ ซึ่งลึกเข้าไปในหุบเขา ขณะเขาชี้แจงเรื่องราวของผักแต่ละแปลงอย่างเรียบง่าย ระหว่างทางเราแอบเด็ดผักใบพอดีคำขึ้นมาเคี้ยวโดยไม่กลัวว่าจะมีสารเคมีใด ๆ ด้วยคำยืนยันของเจ้าของ มันคือความสุขเล็ก ๆ ของมนุษย์ในเมืองอย่างเรา ที่เคยพบเจอแต่ผักเคลือบยาพิษ และเป็นเหมือนชัยชนะเล็ก ๆ ของเราเมื่อเคี้ยวผักเหล่านั้นอย่างเอร็ดอร่อย

ฝนปลายฤดูโปรยละอองทั่วท้องถนน แม้บางช่วงของการเดินทางจะไม่ราบเรียบสักเท่าไรนัก แต่เมื่อนึกถึงเรื่องที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรตามยอดดอยในถิ่นทุรกันดารต่าง ๆ แม้เหนื่อยยากพระวรกายเพียงใด พระองค์ก็ไม่เคยหยุดทรงงานหนักเพื่อปวงชนชาวไทยเลยสักครา สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นแรงผลักดันให้เรามุ่งมั่นฝ่าฟันอุปสรรคที่กำลังเผชิญอยู่

รถวิ่งฝ่าละอองชื้นผ่านตำบลแม่ขะจานตามเส้นทางหลวงหมายเลข 118 เหมือนเคย ไม่นานนักเราเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงชนบทหมายเลข 1150 สู่อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ระยะทางอีก 33 กิโลเมตรเท่านั้น จุดหมายปลายทางของเราอยู่ที่ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ปูนหลวง

ทางรถเริ่มไต่ขึ้นบนยอดดอย ลมหนาวพัดหวีดหวิว ด้านขวาปรากฏป่าสนสมบูรณ์ ขณะด้านซ้ายคือหุบเหวลึกลิ่ว ในที่สุดเราก็มาถึงศูนย์ และไม่รอช้าที่จะขออนุญาตเข้าชมกระบวนการคัดบรรจุผลิตผลทันที

ณ บริเวณหน่วยย่อยสามลี่ภายในศูนย์ฯ แม่ปูนหลวง โรงคัดบรรจุใหญ่โตได้มาตรฐานตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหน้า โดยเริ่มแรกผู้เยี่ยมชมจะต้องเปลี่ยนชุด สวมหมวก สวมหน้ากาก และรองเท้าที่ศูนย์เตรียมไว้ รวมทั้งล้างมือและเดินลงอ่างฆ่าเชื้อ เพื่อทำตัวให้สะอาดหมดจดก่อนเข้าสู่ห้องคัดบรรจุที่ปราศจากเชื้อด้านใน

เจ้าหน้าที่ในชุดสีเขียวเข้มหลายสิบชีวิตกำลังง่วนกับหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย กระบวนการคัดบรรจุเริ่มตั้งแต่การชั่งผลิตผลที่ชาวบ้านในโครงการนำมาจำหน่าย เจ้าหน้าที่จะสุ่มตรวจวิเคราะห์หาสารตกค้างจากพืชผักทั้งหมดประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ถ้าเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนดไว้โครงการจะส่งคืนผลิตผลทันทีเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค เมื่อสุ่มตรวจวิเคราะห์สารเรียบร้อยแล้ว ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนของการตัดแต่งและล้างทำความสะอาดเบื้องต้น น้ำที่ใช้ทำความสะอาดนั้น จะต้องวัดปริมาตรการผสมคลอรีนในอัตราส่วนที่ตรงตามมาตรฐานด้วยเช่นกัน

สำหรับผักที่ไม่ต้องบรรจุหีบห่อ เจ้าหน้าที่จะคัดเกรดและนำผลิตผลที่คัดสรรแล้วบรรจุลงในลังทันที สำหรับผักที่ต้องบรรจุหีบห่อ จะต้องปิดผนึกและติดฉลากให้เรียบร้อยก่อนบรรจุลงลัง จากนั้นเจ้าหน้าที่จะชั่งน้ำหนักและพิมพ์รหัสกำกับผลิตผลใส่ลงไปในลังนั้น ๆ ด้วย ซึ่งขั้นตอนสุดท้ายก็คือการนำผลิตผลที่ได้ไปจัดเก็บไว้ในห้องเย็นที่มีอุณหภูมิ 4-7 องศาเซลเซียส เพื่อให้ผักคงความสดกรอบน่ารับประทานอยู่เสมอ และรอการจัดส่งต่อไป

อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้โรงคัดบรรจุ ก็คือโรงเรือนทดสอบและสาธิต โดยคัดเลือกพืชพันธุ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่และพืชพันธุ์ที่พื้นที่ข้างล่างไม่สามารถปลูกได้ เช่น ปวยเหล็ง ต้นหอมญี่ปุ่น แรดิช เซเลอรี เป็นต้น เพื่อให้เป็นที่เรียนรู้ของเกษตรกร จากการร่วมปฏิบัติงานจริง ขณะเดียวกันแปลงทดลองและสาธิตเหล่านี้ก็จะเป็นแปลงแม่พันธุ์สำหรับให้เกษตรกรต่อไป

"ที่นี่เป็นที่แห่งเดียวที่ปลูกปวยเหล็งในหน้าฝนได้ครับ" หนุ่ย สิริพงษ์ จินดาหลวง เจ้าหน้าที่ศูนย์ บอกกล่าวขณะรอช่างภาพบันทึกภาพยามเย็น มุมมองจากศูนย์ฯ แม่ปูนหลวงสามารถเห็นความงดงามของยอดเขาหินปูนสูงเสียดฟ้านามว่าดอยหลวงเชียงดาวได้อย่างเต็มตา

"พรุ่งนี้รถจะไปรับผักที่บ้านห้วยทรายขาว สนใจไหมครับ" เขาเชื้อเชิญ

"ยินดีครับ" ผมตอบโดยไม่ต้องคิดเลย

แสงแรกของวันเพิ่งผ่านมาทักทาย เช่นเดียวกันวิถีชีวิตน้อยใหญ่ที่กำลังเริ่มต้นขึ้น ฝูงผีเสื้อดอมดมเก็บกินน้ำหวานจากเกสรดอกไม้สีสวยสด ชาวไทยภูเขาบ้านห้วยทรายขาวต่างเก็บผักปวยเหล็ง บ้างเก็บแรดิชอย่างขะมักเขม้น รถโครงการหลวงกำลังไปรับผลิตผลจากป่าเขาเหมือนทุกวันตลอด 40 ปีที่ผ่านมา ให้คนเมืองอย่างเราได้ลองลิ้มชิมรส

"ต้องเก็บวันต่อวันครับ เพราะมีแผนทั้งปี เราจะรู้เลยว่าพรุ่งนี้เป็นผักหรือผลไม้ชนิดไหน" พนักงานขับรถโครงการหลวงเล่าพลางยิ้ม "อย่างวันนี้มีปวยเหล็งกับแรดิชครับ" พร้อมกับฮัมเพลงไปด้วย

ได้ศาลากลางหมู่บ้านที่ติดป้ายว่า "จุดรับส่งสินค้า" รถกำลังถอยหลังเข้าโดยมีชาวไทยภูเขาส่วนหนึ่งได้มายืนรออยู่แล้ว ผลิตผลจะถูกชั่งน้ำหนักก่อนทยอยนำขึ้นสู่รถ ชาวบ้านจะได้ใบเสร็จสีชมพูมาเพื่อเป็นหลักฐานยืนยันว่าเงินได้เข้าสู่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเรียบร้อยแล้ว

"เดี๋ยวนี้ชาวเขามีเอทีเอ็มกันหมดแล้วครับ" เขากล่าวก่อนปิดท้ายรถเตรียมตัวกลับศูนย์

ระหว่างทางขณะนั่งอยู่ในห้องโดยสาร ผมนึกถึงความสุขบนวิถีชีวิตเรียบง่ายพอเพียง รอยยิ้มบนใบหน้าของผู้คนหลากหลายที่พบเจอตลอดหลายวันที่ผ่านมา ล้วนแล้วแต่เกิดจากความห่วงใยในราษฎรของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไม่เพียง 3 ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายที่หลายศูนย์ จากเหนือสู่อีสาน ตะวันออกจดใต้ ราวกับไม้มีที่สิ้นสุด

อาจกล่าวได้ว่าบนผืนแผ่นดินนี้ ไม่มีตำบลใดที่สายพระเนตรของพระองค์จะทอดไปไม่ถึง

ขอขอบคุณ

คุณสุวิทย์ ธรรมสอน หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำริน คุณอลงกต สมฤทธิ์ หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง คุณพีรพันธุ์ อนันตพงษ์ หัวหน้าศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ปูนหลวง คุณวานิช จิตมหาวงศ์ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดทำสารคดีเรื่องนี้

คู่มือนักเดินทาง

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำริน

การเดินทาง : จากตัวเมืองเชียงใหม่ ใช้ทางหลวงหมายเลข 118 (เชียงใหม่-เชียงราย) ถึงหลักกิโลเมตรที่ 63-64 จะมีทางแยกขวาตรงทางเข้าโครงการ เป็นถนนลาดยาง 8 กิโลเมตร ต่อด้วยถนนลูกรัง 1 กิโลเมตร รวมระยะทาง 72 กิโลเมตร

พิกัดจีพีเอส : N19.063826 N099.464016

ที่พัก-ร้านอาหาร : ภายในศูนย์มีบ้านพักรับรอง 2 หลัง รองรับได้หลังละ 10 คน มีสถานที่กางเต็นท์ ซึ่งภายในศูนย์ไม่มีร้านอาหารบริการ แต่สามารถสั่งจองอาหารล่วงหน้าก่อนเดินทาง บริเวณบ่อน้ำพุร้อนแม่ขะจานมีร้านอาหารให้บริการมากมาย สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการสัมผัสชีวิตชนเผ่ามูเซอ สามารถพักแบบโฮมสเตย์ที่ห้วยน้ำริน-ห้วยมด และที่พักแบบเกสต์เฮาส์ที่บ้านเมืองน้อย พักได้ 50 คน

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยน้ำริน บ้านห้วยน้ำริน หมู่ที่ 8 ตำบลแม่เจดีย์ใหม่ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย 57170 โทรศัพท์ 08 1030 6417

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป้ง

การเดินทาง : จากตัวเมืองเชียงใหม่ ใช้ทางหลวงหมายเลข 118 (เชียงใหม่-เชียงราย) ถึงหลักกิโลเมตรที่ 64 จะมีทางแยกซ้ายมือเข้าไปที่ศูนย์ ระยะทางอีก 3 กิโลเมตร รวมระยะทาง 68 กิโลเมตร

พิกัดจีพีเอส N19.128749 E099.439883

ที่พัก-ร้านอาหาร : มีบ้านพักรับรอง 1 หลัง รองรับได้ 15 คน มีสถานที่กางเต็นท์ ภายในศูนย์ไม่มีร้านอาหารบริการ แต่สามารถสั่งอาหารล่วงหน้าได้ นอกจากนี้บริเวณบ่อน้ำพุร้อนสบโป่งก็มีร้านอาหารให้บริการมากมาย

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงห้วยโป่ง บ้านสบโป่ง ตำบลแม่เจดีย์ใหม่ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย 57170 โทรศัพท์ 0 5360 9568

ศูนย์พัฒนาโครงการหลวงแม่ปูนหลวง

การเดินทาง : จากตัวเมืองเชียงใหม่ ใช้ทางหลวงหมายเลข 118 (เชียงใหม่-เชียงราย) ถึงทางแยกเลี้ยวซ้ายเข้าเส้นทางชนบทหมายเลข 1150 (พร้าว-เวียงป่าเป้า) ระยะทาง 33 กิโลเมตร ถึงบ้านขุนแจ๋ จะมีทางแยกขวามือจนถึงโครงการ

พิกัดจีพีเอส N19.330324 E099.322303

ที่พัก-ร้านอาหาร : ภายในศูนย์มีบ้านพักรับรอง 2 หลัง รองรับได้หลังละ 15 คน มีสถานที่กางเต็นท์ ซึ่งภายในศูนย์ไม่ร้านอาหารบริการ แต่สามารถสั่งจองอาหารล่วงหน้าก่อนการเดินทางหรือเตรียมอาหารไปทำเองได้ หาซื้อวัตถุดิบได้จากตลาดอำเภอพร้าว

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ศูนย์พัฒนาโครงหลวงแม่ปูนหลวง หมู่บ้าน 8 ตำบลแม่แวน อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ 50190 โทรศัพท์ 08 1952 6352

ความต่างระหว่าง "โครงการหลวง" และ "โครงการตามพระราชดำริ"

"โครงการตามพระราชดำริ" คือโครงการที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแนวทางแก้ปัญหาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปรับผิดชอบดูแลและดำเนินการ โดยใช้งบประมาณของแผ่นดิน หรือหากเร่งด่วน รอไม่ได้ ก็จะได้รับเงินจากคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ซึ่งได้รับมาจากงบประมาณของรัฐบาล

ส่วน "โครงการหลวง" นั้นเป็นของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชโดยตรง ทรงใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ เพิ่มพูนด้วยเงินสนับสนุนจากราษฎร รัฐบาลไทยและต่างประเทศ โดยข้าราชบริพารจะทูลเกล้าฯ ถวายรายงานการดำเนินโครงการโดยตรงต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจากอสทปีที่ 54 ฉบับที่ 5 ธันวาคม 2556



บทความแนะนำ


ทำจมูกแม็กซิมเอมมี่พูดไม่เก่งนักพูดพูดไม่ได้ร้องไห้คนรักความรักข่าวบันเทิงดาราข่าวบันเทิงทรงผมทรงผมสั้นทรงผมประบ่าทรงผมถักเปียดูดวงดวงความรัก