ข้อควรใส่ใจ...!! อย่าละเลย"บนโลกไซเบอร์"

อ่าน 3,822

ข่าวหนึ่งที่ไม่ค่อยดังบนหน้าสื่อนัก แต่ในโลกไซเบอร์ถกกันดุเดือดมาก คือ การออก พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ( ฉบับที่...) พ.ศ....ซึ่งเป็นหนึ่งในกฎหมายชุดความมั่นคงดิจิทัล ถูกมองว่าเป็นกฎหมายที่มีเนื้อหาในการปิดกั้น ละเมิดสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชนอย่างมาก แต่กระบวนการพิจารณากลับเงียบ ไม่มีกระบวนการรับฟังความเห็น (ทั้งที่เป็นกฎหมายที่มีผลกระทบ) และจ่อจะเข้าสู่ สนช.ในวาระ 3

ไอ้ที่เขาห่วงๆ กัน เพราะว่าเดิมจะให้แก้ไขเพื่อปรับเรื่องสิทธิเสรีภาพใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับเก่า (พ.ศ.2550) แต่ทำไมออกมาหนักกว่าเดิม? ยิ่งจำกัดเสรีภาพในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การแสดงความคิดเห็นออนไลน์ เช่น ในมาตรา 14 (2) การกำหนดความผิดฐานนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จที่กระทบต่อ ?ความปลอดภัยสาธารณะ? ?ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ? หรือ ?การสร้างความตื่นตระหนกแก่ประชาชน? จะเห็นว่า คำเหล่านี้กว้างครอบจักรวาลมาก

คำในกฎหมายที่กว้างครอบจักรวาล เปิดช่องให้การตีความกว้างมากเช่นกัน ที่เขากลัวๆ กันคือ ทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีปัญหา มีการตีความตามความต้องการของผู้มีอำนาจหรือของเจ้าหน้าที่ได้ง่าย อย่างเช่น กฎหมายเกี่ยวกับสื่อสารมวลชน (รวมทั้งที่มีอยู่ใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เดิม) มีคำ 2 คำที่น่าคาใจ คือ ?ข้อมูลที่กระทบต่อความมั่นคง? และ ?ข้อมูลที่กระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี? ถามว่า คำเป็นนามธรรมขนาดนี้ ในทางปฏิบัติ ตีความอย่างไรว่าพฤติกรรมไหนที่เข้าข่าย? หรือพฤติกรรมที่ ?ผู้มีอำนาจ? ไม่ชอบ

มันกลายเป็นเรื่องดุลยพินิจเจ้าหน้าที่ล้วนๆ บางคนเขายังเหน็บมาว่า ?กระทบต่อความมั่นคง? นี่กลายเป็นการตีความที่เข้าข้างฝ่ายกองทัพหรือไม่ เพราะเวลามีความต้องการที่จะตรวจสอบอะไรที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ มักจะ ?ไม่มีเสียงดังเท่าที่ควร? เพราะข้ออ้าง ?กระทบต่อความมั่นคง?จนไม่รู้ว่า ?ความมั่นคง? ที่ว่าเป็นความมั่นคงของประเทศชาติหรือของกองทัพ ทั้งที่ยุคสมัยที่เน้นการปราบโกง ความโปร่งใส ทุกหน่วยงานควรเปิดกว้างให้มีการตรวจสอบ ปฏิรูปได้ เห็นทำปฏิรูปตำรวจกันเข้มข้น แต่ปฏิรูปกองทัพกลับเงียบ

?กระทบต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี? ก็มาเหมือนกัน กฎหมายที่ไม่มีความชัดเจนทำให้การตีความมันครอบจักรวาล และจะนำมาซึ่งการ ?สร้างความกลัว? ให้เกิดขึ้นในสังคมว่าทำอะไรแล้วจะโดน เหมือนกรณี ?แม่จ่านิว? นั่นไง ถ้าใครอ่านข่าว โดนความผิดข้อหา 112 เพราะอะไร (เปิดเน็ตหาอ่านได้เยอะแยะ) เรียกว่า ?คำเดียวเปลี่ยนชีวิต? กันเลยทีเดียว ความหวาดกลัวจะทำให้คนไม่กล้าแสดงความเห็น กระทั่งสื่อก็จะ ?เซนเซอร์ตัวเอง? แล้วมีผลดีต่อบรรยากาศประชาธิปไตยอย่างไร? ถ้าผู้มีอำนาจมองว่าความเห็นต่างกระทบความมั่นคงเสียหมด

การเขียนหรือการแก้ไขกฎหมายควรมีการใช้คำที่ทำให้เกิดความชัดเจนในรูปแบบความผิด มากกว่าเขียนไว้ครอบจักรวาล เพื่อป้องกันการใช้ดุลยพินิจที่ไม่เป็นธรรม ใครจะรู้ว่า ในอนาคต ผู้ที่เคลื่อนไหวทางสังคมอาจกลายเป็นเหยื่อที่ถูกกลั่นแกล้งได้หรือไม่ ถ้าไป ?เหยียบเท้า? ผู้มีอำนาจเข้า

ไอ้ที่เขาฮือฮากันมากคือในมาตรา 20 ที่มีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถเสนอบล็อกเวบไซด์ได้ หากคณะกรรมการฯ เห็นว่า ?เนื้อหานั้นขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี? ยิ่งทำให้หลายคนผวาว่า...ต่อไปเสรีภาพในการสื่อสารในโลกไซเบอร์จะลดน้อยลง แสดงความเห็นอะไรไปถ้าเกิดเขาจะตีความว่า ?ขัดต่อศีลธรรมอันดี? ก็โดนปิดกั้นการสื่อสารอีก...ถึงได้บอกว่า การเขียนพฤติกรรมความผิด อย่าเขียนครอบจักรวาล เพราะเขากลัวเรื่องการใช้ดุลยพินิจว่า จะมีการกลั่นแกล้งกันได้หรือไม่

คณะกรรมการกลั่นกรองฯ นี้มีได้หลายคณะ แต่ละคณะมีกรรมการ 5 คน มาจากการแต่งตั้งของ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เมื่อรัฐมนตรีตั้งเท่ากับคณะกรรมการมาจากฝ่ายการเมือง ตานี้ก็ทำให้เขาปริวิตกกันอีกว่า การทำงานของคณะกรรมการจะต้องเป็นคุณกับรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจ ณ ขณะนั้นหรือไม่ อันนี้ก็ไม่รู้...แต่ว่าตามธรรมชาติวิสัย การจะตั้งใครทำงาน เขามักจะตั้ง ?คนที่เขาใช้งานได้? ไม่ใช่หรือ? ตานี้ถ้าคณะกรรมการฯ ทำงานอย่างเป็นคุณกับรัฐบาล ข้อมูลที่ต้องการตรวจสอบความไม่โปร่งใสของรัฐบาล จะเผยแพร่ได้อย่างเสรีหรือไม่

แถมมาตรา 15 ร่างใหม่นี้ระบุว่า หากมีข้อมูลที่ ?เข้าข่ายไม่เหมาะสม? ผู้ให้บริการเว็บไซต์และโซเชี่ยลมีเดีย ต้องระงับหรือลบข้อมูลใน 3 วันหลังได้รับแจ้ง มิฉะนั้นจะต้องได้รับโทษเท่ากับผู้โพสต์ กลายเป็นการทำให้ผู้ให้บริการฯ จะต้องระมัดระวังในการเซนเซอร์ตัวเองอีกชั้นหนึ่ง

ตัวอย่างหนึ่งของการเซนเซอร์ตัวเอง ลองนึกดูว่า ในเว็บไซต์ข่าวสารปัจจุบัน มีช่องให้มีการแสดงความเห็น ซึ่งเป็นความเสรีของผู้อ่านข่าว และได้เปิดมุมมองใหม่ๆ ด้านต่างๆ เผลอๆ ความเห็นอาจต่อยอดไปเรื่องอื่นได้ แต่หากกฎหมายออกมาลักษณะนี้ การเซนเซอร์ตัวเองของผู้ให้บริการเว็บไซต์ข่าวอาจต้องปิดส่วนที่มีการแสดงความเห็น ไม่ให้เกิดเหตุเหมือนที่ บก.เว็บไซต์ประชาไท เคยต้องคดีเพราะมีการแสดงความเห็นหนึ่งที่เข้าข่ายไม่บังควร

ตัวอย่างง่ายๆ แค่เรื่องการใช้คำฐานความผิดครอบจักรวาล และเรื่องคณะกรรมการเซนเซอร์ก็ทำให้หลายคนเพลีย และเริ่มวิตกกังวลว่า กฎหมายจะผ่านง่ายดายโดยไม่มีใครต่อต้าน เพราะ สนช.ก็ทหารเสียส่วนมาก และมาจากรัฐบาล คสช. เลือก ถ้ากฎหมายเป็นความต้องการของ คสช. ใยเลยจะผ่านยาก? ตอนนี้ที่เขาทำๆ กัน คือ การแชร์ข่าว และการรวบรวมรายชื่อเพื่อเสนอความเห็นคัดค้าน ก็ไม่รู้ว่า...การเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเสรีภาพครั้งนี้จะบรรลุผลได้แค่ไหน

อีกเรื่องหนึ่งที่น่าหยิบยกมาพูดถึงในวันนี้ คือ ?เรื่องเกี่ยวกับกฎหมายลิขสิทธิ์? เพราะมีปรากฏการณ์น่าสนใจ คือ การแปลเนื้อหาที่เป็นภาษาต่างประเทศมาเผยแพร่บนโลกไซเบอร์ และมีการเก็บเงิน โดยอ้างว่าเป็น ?เงินบริจาค? ซึ่งเนื้อหาภาษาต่างประเทศที่ว่า มีทั้งซับไตเติลของซีรีย์ต่างประเทศ และการแปลนิยายต่างประเทศมาเผยแพร่ตามเว็บไซต์ต่างๆ เพื่อหลีกเลี่ยงคำว่า ?นำมาหารายได้? นัยว่า ทำแบบนี้เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงการผิด พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์

เงินบริจาคพวกนี้ไม่ใช่น้อยๆ ถ้ามีคนติดตามมาก ก็มีคนบริจาคมาก อย่างตอนนึงบริจาคให้ร้อยสองร้อย คนอ่านบริจาคสักร้อยคน ก็ได้เป็นหมื่นต่อตอน แล้ว ?ผู้แปล? ก็สามารถ ?ยึกยัก? ได้ แบบว่า เงินบริจาคไม่พอ (ใจ) ก็ไม่มีอารมณ์จะแปล รอให้ผู้ติดตามหรือติ่งโอนเงินมาให้ก่อน แล้วถึงแปล ซึ่งเรื่องแปลยังมีความสะดวกกว่าเขียนนิยายเอง เนื่องจากไม่ต้องคิดพล็อตเองให้เหนื่อย อ่านภาษาต่างประเทศแล้วถอดความได้ก็พอ

เขาว่าการลงทุนทำแบบนี้ก็ไม่ใช่แพงมาก ไปเอานิยายมาแปลด้วยโปรแกรมแปลภาษา แล้วก็ขัดๆ เกลาๆ เสียหน่อย จากนั้นทยอยปล่อยรับ ?เงินบริจาค? เป็นตอนๆ พอใครทักท้วงก็ว่า ไม่ได้เอามาขายแสวงหากำไรนี่ ก็เขียนไว้แล้วว่า แค่รับเงินบริจาค (ในเว็บเขาเรียกทับศัพท์เป็นเงินโดเนท) ใครไม่ชอบก็ไม่ต้องเข้ามา แถมยังมีเหน็บ จิกกัด ว่า คนที่เข้ามาด่าว่า ต้องไม่เคยใช้ของละเมิดลิขสิทธิ์นะ ประมาณด่าว่าข้าชั่วเอ็งต้องไม่เลว

เวลามีใครทักท้วงเรื่องลิขสิทธิ์ ลูกหาบ หรือติ่ง ก็จะเข้ามาช่วยเถียงแทนรัวๆ ไอ้เหตุผลที่ใช้เถียงมันก็ไม่ได้แปลกใหม่อะไร อันนึงคือ ?ที่เขาทำนี่เพราะเขาต้องการโปรโมทให้? นับเป็นการโปรโมทที่เจ้าของลิขสิทธิ์เข้าเนื้ออยู่ ผลงานตัวเอง ตัวเองเป็นเจ้าของแห่งสิทธิ์ 100% กลับไม่ได้รับประโยชน์ใดๆ เลย แค่ได้เป็นที่รู้จักว่า ?อ๋อ อันนี้ที่พี่เขาแปล คนนั้นเขียน? ซึ่งเข้าใจว่า เครดิตอุตส่าห์ให้แค่นี้ไม่เอาซะดีกว่า อย่าลำบากเลย จ่ายค่าเรื่องเถิด

การผลิตงานมา เขาก็ได้เครดิต ได้การโปรโมทจากคนที่ซื้อถูกต้องอยู่แล้ว คงไม่ต้องพึ่งพวก ?ปลิง? (คำนี้เป็นแสลงที่ใช้กันมากในเน็ต ในการเรียกพวกละเมิดลิขสิทธิ์ อารมณ์ประมาณไม่ลงทุนอะไรนอกจากสูบเอาฟรีๆ อย่างเดียว) แม้พวกจะร่ำร้องกันมากว่า การให้เครดิตของพวกมีราคานะ ทำให้คนรู้จักคุณมากขึ้น

อีกเหตุผลนึงที่ใช้เถียงกัน คือพวกปลิงจะทำเป็นแขวะว่า ใช่...ข้าเลว...แต่ในเมื่อมันไม่มีช่องทางอื่นจะหาวรรณกรรม หาซีรีย์นั้นดูในภาษาไทย ข้าก็ยอมเลว พวกไม่ชอบอย่ามาพูดมาก ไม่ต้องลงมาเกลือกกลั้วในปลักตมแห่งนี้ และมีประโยคแก้ขวยอยู่ 1 ประโยค ว่า ?ถ้ามีของลิขสิทธิ์ก็พร้อมให้การสนับสนุนอยู่แล้ว?

เวลามีใครเปิดประเด็นเรื่องทำไมถึงยอมรับอะไรไม่ถูกลิขสิทธิ์ การถกเถียงบางที ?ล้ำ? จนน่าทึ่งว่า ?คิดกันได้ไง? บางเว็บบอร์ดมีคนมาเถียงเป็นฉากๆ ว่า ?งานแปล ลิขสิทธิ์เป็นของผู้แปล ถ้าไม่ใช่แปลเพื่อการค้า (แล้วเจ้าของงานล่ะ? ได้อะไร)? พยายามจะเบี่ยงประเด็นว่า การเปิดบริจาคไม่ใช่การแสวงหากำไร แต่พอมีคนมาลองคิดเงินเล่นๆ ดู มันก็ดูเหมือนจะได้เป็นกอบเป็นกำอยู่ เรียกว่า ถ้ารักจะขโมยแปลเป็นอาชีพก็ทำได้

การถกเถียงบางทีล้ำไปขนาดแสดงความเข้าใจ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ผิดๆ ถูกๆ กลายเป็นว่า ?ฉันพูดสิ่งที่ฉันอยากให้เป็นจริง? มากเสียกว่าจะอ่านให้เข้าใจแล้วนำมาพูดความจริงกัน หรือว่าเช่นนี้ เขาเรียกว่า ความจริงแบบ post-truth คือเป็นสิ่งที่เลือกจะเชื่อว่าจริง มากกว่าสิ่งที่มันเป็นความจริงแท้ post-truth นี้เป็นเพราะคนส่วนสมัยใหม่ใช้อารมณ์ความรู้สึกกันมาก ดูกระแสแล้วเชื่อว่ามันจริง ด่วนตัดสินไปก่อนจะรอความจริงที่แท้ที่อาจซับซ้อนกว่า

มีตัวอย่างการถกเถียงเรื่องลิขสิทธิ์ที่น่าสนใจใน 2 กระทู้นี้ คือ pantip และ www.dek-d.com อยากให้ลองเข้าไปอ่านกัน แล้วจะรู้สึกทึ่ง ตะลึงกับวิธีคิดบางอย่าง เรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ มันมีผลกระทบหลายด้าน ทั้งระดับเล็กๆ คืออารมณ์ความรู้สึกผู้ถูกละเมิด ไปจนถึงระดับใหญ่ๆ คือเกี่ยวข้องกับการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ ก็อยากให้ทำความเข้าใจกัน

นี่คือ 2 เรื่องที่อยากเล่าสู่กันฟังวันนี้...

?....................................

คอลัมน์ : ที่เห็นที่เป็นอยู่

โดย ?บุหงาตันหยง?



บทความแนะนำ


ภาพยนตร์ผู้ชายเด็กพม่าเด็กเสียชีวิตข่าวล่าสุดความรักผู้หญิงAnt-Manทรงผมทรงผมสั้นทรงผมประบ่าทรงผมถักเปียดูดวงดวงความรัก