10 วิธีแก้หูอื้อเบื้องต้น ปราบอาการหูดับด้วยตนเอง

อ่าน 9,284

หูอื้อบ่อย ๆ อยากหายต้องลองวิธีแก้หูอื้อ ปราบอาการหูดับไปด้วยในตัว

ซึ่งไม่ว่าจะหูอื้อข้างเดียวหรือหูอื้อตอนไหน ยังไง

วิธีเหล่านี้ก็จัดการให้คุณได้หมด

อาการหูอื้อ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Tinnitus

ซึ่งนอกจากอาการหูอื้อแล้ว

ขณะที่เกิดอาการหูอื้อเรายังจะได้ยินเสียงดังในหู คล้ายกับมีแมลงบินในหู

หรืออาจได้ยินเป็นเสียงวีดแหลม ไม่ก็เสียงตุบ ๆ

เหมือนได้ยินเสียงชีพจรของตัวเองเต้น

แต่ถึงแม้จะได้ยินเสียงในหูหลากหลายเสียงก็ใช่ว่าหูอื้อแล้วจะสนุกใช่ไหมล่ะ

เพราะอาการหูอื้อทำให้เราหูดับ ได้ยินเสียงจากสภาพแวดล้อมไม่ค่อยชัด

แถมบางคนยังหูอื้อข้างเดียว เสียสมดุลการฟังกันไปอีก แบบนี้ต้องลองวิธีแก้หูอื้อให้เด็ดขาด ด้วยวิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น

ทว่าก่อนเราจะมาดูวิธีแก้หูอื้อเบื้องต้น ลองทำความเข้าใจกันก่อนค่ะว่า อาการหูอื้อเกิดจากอะไรได้บ้าง

หูอื้อ เกิดจากอะได้บ้าง

บางเคสของอาการหูอื้อก็ไม่เป็นอันตราย

แต่บางเคสก็อาจบอกใบ้ได้ว่าเรามีโรคภัยน่ากลัวซ่อนอยู่

โดยสาเหตุของอาการหูอื้อ อาจมีได้ดังนี้ค่ะ

ประสาทหูได้รับเสียงดังเกินไป เช่น อยู่ในคอนเสิร์ต เสียงพลุ

เสียงระเบิดใกล้ ๆ ตัว ซึ่งอาจทำให้ประสาทหูเสื่อมเฉียบพลันหรือเรื้อรังได้

- ประสาทหูเสื่อมตามอายุไข เมื่ออายุมากขึ้น ประสาทหูก็อาจเสื่อมสภาพลงได้เช่นกัน

หูอื้อจากไข้หวัด โดยอาจเกิดจากท่อยูสเตเซียน

ที่อยู่ระหว่างหูชั้นกลางกับบริเวณลำคอด้านหลังโพรงจมูก

ซึ่งมีหน้าที่ปรับความดันภายในหูชั้นกลางกับบบรรยากาศภายนอกทำงานผิดปกติไป

ก่อให้เกิดอาการหูอื้อ

หรืออาจเกิดจากหูชั้นกลางติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียจากหวัดจนอักเสบ

ทำให้หูอื้อได้เช่นกัน

- ภาวะน้ำเข้าหู ส่งผลให้ขี้หูอมน้ำและบวมจนอุดตันช่องหูชั้นนอก ก่อให้เกิดอาการหูอื้อ

หูอื้อจากการเปลี่ยนความดันอากาศ ไม่ว่าจะขึ้นเครื่องบิน หรือดำน้ำ

ความกดอากาศบนท้องฟ้ากับใต้น้ำลึกอาจทำให้หูชั้นกลางอักเสบจนอื้อได้

- การใช้ยาที่เป็นพิษต่อประสาทหูเป็นเวลานาน ๆ เช่น salicylate, aminoglycoside, quinine, aspirin เป็นต้น

- อาการบาดเจ็บของกะโหลกศีรษะที่ส่งผลกระทบกระเทือนต่อหูชั้นใน

- การผ่าตัดหูที่มีการกระทบกระเทือนต่อหูชั้นใน

- ภาวะมีรูรั่วติดต่อระหว่างหูชั้นกลางและหูชั้นใน

- การติดเชื้อของหูชั้นใน เช่น ติดเชื้อจากซิฟิลิส ไวรัสเอดส์

โรคบางชนิด เช่น โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน

โรคเกี่ยวกับหลอดเลือดอย่างโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ความดันโลหิตสูง

เนื้องอกในสมอง หรือเป็นผลข้างเคียงจากโรคอื่น ๆ เช่น โรคโลหิตจาง

โรคภูมิแพ้ตัวเอง มะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคเกล็ดเลือดสูงผิดปกติ

โรคยูริกในเลือดสูง โรคไต เบาหวาน ภาวะไขมันในเลือดสูง

ทั้งนี้สาเหตุของอาการหูอื้อยังอาจเกิดจากปัจจัยหรือผลข้างเคียงของโรคอื่น

ๆ ได้อีก ซึ่งในส่วนนี้ต้องให้แพทย์เฉพาะทางเป็นผู้วินิจฉัยนะคะ

แต่คราวนี้เรามาดูกันค่ะว่าจะใช้วิธีไหนแก้หูอื้อได้บ้าง

วิธีแก้หูอื้อเบื้องต้น

1. บีบจมูก กลืนน้ำลาย

ในเคสที่หูอื้อเพราะดำน้ำหรือขึ้นเครื่องบิน

ซึ่งอาการเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของความดันอากาศ

เราสามารถแก้อาการหูอื้อได้ง่าย ๆ ด้วยการทำ Toynbee maneuver

คือบีบจมูกทั้ง 2 ข้าง พร้อมกับกลืนน้ำลาย 1 ครั้ง

จากนั้นเอามือที่บีบจมูกออก แล้วกลืนน้ำลายอีก 1 ครั้ง

วิธีนี้จะช่วยให้ท่อยูสเตเซียนเปิดและปิด แก้อาการหูอื้อได้

2. รักษาหวัดให้หาย

ในกรณีที่หูอื้อเพราะเป็นหวัด แนะนำให้รักษาอาการหวัดให้หายดี แต่หากหวัดหายแล้วยังหูอื้ออีก ให้พบแพทย์เพื่อหาสาเหตุอีกที

3. นั่งหลังตรง

ทางการแพทย์มีความเชื่อว่า

กล้ามเนื้อและเส้นประสาทบริเวณลำคออาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการหูอื้อได้

ในกรณีที่เรานั่ง-ยืน ผิดท่า ดังนั้นหากหูอื้อขึ้นมาไม่มีปี่มีขลุ่ย

ลองนั่งและยืนหลังตรงเข้าไว้ค่ะ เพื่อปรับสมดุลเส้นประสาทดังกล่าวนั่นเอง

4. เติมวิตามินให้ร่างกาย

Michael

Seidman หัวหน้าศูนย์แพทย์ Center for Integrative Medicine

เผยงานวิจัยว่า อาการหูอื้ออาจเกิดเพราะร่างกายเราขาดวิตามิน B12 และซิงค์

ซึ่งเป็นวิตามินตัวสำคัญต่อการทำงานของระบบประสาท

ดังนั้นเราสามารถกินวิตามิน B12 วันละ 25-50 มิลลิกรัม และซิงค์วันละ 30

มิลลิกรัมเพื่อแก้อาการหูอื้อได้ ทว่าวิธีนี้จะเห็นผลเพียง 30-40%

เท่านั้นนะคะ

5. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

ประสาทหูที่เสื่อมเฉียบพลันก็ต้องการการฟื้นฟูเหมือนอวัยวะอื่น

ๆ เช่นกัน ดังนั้นคนที่หูอื้อไม่ยอมหาย

ลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนของตัวเองบ้างก็ดี โดยพยายามนอนก่อน 4 ทุ่ม

หรือพักผ่อนไม่ต่ำว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน

6. ฟังเพลงบรรเลงกระตุ้นประสาทการฟัง

เสียงเพลงบรรเลงฟังสบายที่จัดอยู่ในหมวด

White Sound เช่น เสียงของคลื่นทะเล เสียงลมพัด เสียงน้ำไหล

เสียงที่ฟังสบายเหล่านี้จะช่วยปลุกประสาทการฟังของเราได้

โดยแนะนำให้เสียบหูฟังฟังระหว่างนอนหลับ

หรือใครกลัวรำคาญลองเปิดเพลงบรรเลงเสียงดังพอประมาณกล่อมตัวเองนอนก็ได้เช่นกันค่ะ

7. กำจัดขี้หู

สำหรับคนที่มีอาการหูอื้อ

ขอให้หลีกเลี่ยงการแคะหูด้วยตัวเอง

แต่ให้พบแพทย์เพื่อทำการกำจัดขี้หูออกให้

ซึ่งจะปลอดภัยและช่วยแก้หูอื้อได้มากกว่า

8. เอียงศีรษะเพื่อเอาน้ำในหูออก

ถ้ารู้สึกเหมือนน้ำเข้าหูและทำให้หูอื้อ

ควรเอียงศีรษะข้างที่มีน้ำเข้าหูลงต่ำ

ดึงใบหูให้กางออกและเฉียงไปทางด้านหลัง

ซึ่งจะทำให้ใบหูราบตรงต่างจากลักษณะปกติที่ใบหูจะเป็นรูปตัว S

คราวนี้น้ำก็จะไหลออกจากหูได้สะดวกและส่วนมากก็จะพาเอาอาการหูอื้อหายไปด้วย

ทว่าหากใครยังหูอื้ออยู่ เคสนี้ต้องขอให้ไปพบแพทย์เฉพาะทางแล้วล่ะค่ะ

9. นวดบำบัด

สำหรับคนทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ มีอาการปวดเมื่อยพร้อมหูอื้อ

ลองนวดผ่อนคลายกล้ามเนื้อที่ตึงเครียดบริเวณลำคอ ไหล่ และหลัง

ซึ่งอาจช่วยคลายเส้นประสาทและกล้ามเนื้อจนอาการหูอื้อหายไปได้

10. พบแพทย์เฉพาะทาง

หากลองรักษาเบื้องต้นแล้วไม่หาย แนะนำให้ไปพบแพทย์เฉพาะทาง

โดยแพทย์จะวินิจฉัยสาเหตุของอาการหูอื้อ และรักษาตามสาเหตุที่เป็น

ซึ่งอาจจะทำการรักษาด้วยยา เช่น

ยาขยายหลอดเลือดเพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงหูชั้นในมากขึ้น ยาบำรุงประสาทหู

เป็นต้น หรืออาจรักษาด้วยการผ่าตัด แล้วแต่เคสนั้น ๆ ไป

วิธีป้องกันหูอื้อ

ถ้าไม่อยากรำคาญกับอาการหูอื้อ เรามีวิธีป้องกันหูอื้อมาฝาก

- หลีกเลี่ยงเสียงดัง

เคี้ยวหมากฝรั่งหรือพยายามกลืนน้ำลายบ่อย ๆ ขณะโดยสารเครื่องบิน

เพื่อให้ท่อยูสเตเซียนเปิดและปิดอยู่ตลอดเวลา ป้องกันอาการหูอื้อได้

- หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีพิษต่อประสาทหู เช่น แอสไพริน, aminoglycoside และ quinine

- ลดอาหารเค็มหรือเครื่องดื่มบางประเภทที่มีสารกระตุ้นประสาท เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม

- งดสูบบุหรี่ เพราะนิโคตินอาจขัดขวางการลำเลียงเลือดไปยังประสาทหูได้

- รักษาเนื้อรักษาตัวให้ดี ๆ พยายามระมัดระวังเหตุที่จะกระทบกระเทือนไปถึงหูได้

- หลีกเลี่ยงความเสี่ยงของการติดเชื้อที่หู หรือการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน

- พยายามออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกัน

- ลดความเครียด วิตกกังวล

- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ

- ควบคุมโรคที่เป็นให้ดี โดยเฉพาะโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง

ไขมันในเลือดสูง โรคไต โรคกรดยูริกในเลือดสูง โรคซีด โรคเลือด เป็นต้น

ส่วนมากแล้วอาการหูอื้อจะไม่ค่อยน่ากังวลเท่าไร

เป็นสักพักก็อาจหายไปได้เองในบางกรณี แต่สำหรับคนที่หูอื้อมานาน

ทำท่าว่าจะเรื้อรัง อยากให้ไปปรึกษาแพทย์โดยเร็วที่สุดนะคะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ราชวิทยาลัย โสต คอ นาสิกแพทย์ แห่งประเทศไทย

คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล

prevention

webmd

reader?s digest

wikihow



บทความแนะนำ


มหาวิทยาลัยการศึกษาผู้หญิงความสวยความงามโครงการเยาวชนอาเซียนทรงผมทรงผมสั้นทรงผมประบ่าทรงผมถักเปียดูดวงดวงความรัก