"พระนางศุภยาลัต" ราชินีสุดโหดในประวัติศาสตร์ "ฆ่า" ได้แม้กระทั่งพี่น้องตัวเอง !

อ่าน 10,169

เห็นแบบนี้แล้ว การสามัคคีกันไว้เป็นสิ่งที่ดีที่สุดค่ะ

เกาะกระแสเรื่องเพลิงพระนาง ละครที่ถูกสร้างโดยมีเค้าโครงเรื่องบางส่วนจากพระนางศุภยาลัต จนทำให้เราอยากรู้ประวัติความเป็นมาของ พระนางศุภยาลัต แห่งพม่า และได้ขึ้นชื่อว่าเป็น 1 ในราชินีสุดโหดในประวัติศาสตร์นั้นจริงๆ เป็นอย่างไร วันนี้เราจะไปติดตามเรื่องราวกัน อาจจะยาวไปสักนิด แต่น่าสนใจและเข้มข้นทุกตอนจริงๆ ค่ะ

พระนางศุภยาลัต

พระนางศุภยาลัต แห่งพม่า ราชินีสุดโหดในประวัติศาสตร์

ประวัติ

พระนางศุภยาลัต (พม่าออกเสียง: ซุพะย๊าละ) ประสูติ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2402 เป็นพระราชินีองค์สุดท้ายแห่งราชวงศ์อลองพญา เป็นราชบุตรีของพระเจ้ามินดง กับมเหสีรอง พระนางชินพยูมาชิน (นางพญาช้างขาว หรือที่รู้จักกันในนามพระนางอเลนันดอ) พระนางศุภยาลัตมีพระเชษฐภคินีคือ พระนางศุภยาคยี และมีพระขนิษฐาคือเจ้าหญิงศุภยากเล อุปนิสัยของพระนางศุภยลัตมีลักษณะเหมือนพระราชมารดา คือ มีความทะเยอทะยาน เจ้ากลอุบาย ใจร้าย ขี้หึง เชื้อสายดั้งเดิมเป็นสามัญชน เนื่องจากยายของพระนางเป็นแม่ค้าขายของในตลาดมาก่อน พระนางศุภยลัตจึงได้เป็นพระราชินีใน พระเจ้าธีบอ กษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งพม่า

พระเจ้าสีป่อ

โดยพระเจ้าธีบอ หรือ พระเจ้าสีป่อ นั้นเป็นพระราชโอรสของพระเจ้ามินดง กับเจ้าหญิงจากเมืองสีป่อ ในดินแดนไทใหญ่ มีพระนามเดิมว่า เจ้าชายหม่องปู เมื่อเจริญพระชันษาขึ้น ได้ผนวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนาเพื่อศึกษาวิชาการต่างๆ เมื่อทรงลาผนวชแล้ว พระราชบิดาจึงทรงแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองสีป่อ ซึ่งเป็นที่มาของพระนามเมื่อเสวยราชสมบัติในเวลาต่อมา

พระองค์ได้ขึ้นครองราชสมบัติเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2421 ด้วยความช่วยเหลือจากพระนางอเลนันดอ พระมเหสีองค์หนึ่งของพระเจ้ามินดงผู้เป็นพระราชบิดา และเหล่าขุนนางชั้นสูงกลุ่มหนึ่ง พระองค์ได้ทรงเสกสมรสกับพระนางศุภยาลัต พระราชธิดาของพระเจ้ามินดงกับพระนางอเลนันดอ และพระขนิษฐาร่วมพระราชบิดาเดียวกัน ซึ่งพระนางศุภยาลัต เป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลต่อการตัดสินพระทัยในเหตุสำคัญต่างๆ ของพระเจ้าสีป่อเป็นอย่างมาก

พระฉายาลักษณ์ของพระเจ้าธีบอ (ขวา) พระราชินีศุภยาลัต (กลาง) และพระกนิษฐาของพระนางคือพระนางศุภยาคยี (ซ้าย) ที่พระราชวังหลวง เมืองมัณฑะเลย์

การยึดอำนาจ

การขึ้นครองราชสมบัติของพระเจ้าธีบอ เกิดจากเมื่อพระเจ้ามินดงผู้เป็นบิดาทรงพระประชวรหนัก พระนางอเลนันดอ พระมเหสีรองจึงเรียกพวกเสนาบดีประชุมในที่รโหฐานและประกาศตั้งเจ้าฟ้าสีป่อ หรือพระเจ้าธีบอ เป็นรัชทายาท เพราะหัวอ่อน ควบคุมง่าย ต่อมาเมื่อพระเจ้ามินดงสวรรคตแล้ว ก็ให้เจ้าฟ้าสีป่อขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งกรุงพม่า พอขึ้นครองราชย์ได้พระนางศุภยาลัตและพระนางอเลนันดอ กับกลุ่มขุนนางก็จัดการสังหารบรรดาพี่น้องตัวเอง และบริวารรวมกันถึงราว 500 กว่าคน เจ้าชายองค์ใดถูกปลงพระชนม์ เจ้าจอมมารดา พระญาติและบรรดาลูกๆ รวมทั้งเจ้าน้ององค์หญิงเจ้าชายองค์นั้น ซึ่งมีทั้งผู้เฒ่าชราและแม้แต่เด็กจนถึงทารกไร้เดียงสาก็ถูกสังหารจนสิ้นด้วยสารพัดวิธีอันหฤโหด ขุนนางที่เคยรับใช้หรือญาติทางฝ่ายจอมมารดาก็จับฆ่าเสียสิ้นเหมือนกัน ด้วยพิธีที่พิสดาร และตามแต่เพชฌฆาตจะเห็นสนุก เพราะพระนางเกรงกลัวว่าจะมาแย่งอำนาจ

การสังหารหมู่ดังกล่าวใช้เวลาอยู่สามวันจึงสังหารได้หมดเพราะต้องฆ่าที่วังแต่เวลากลางคืน เพื่อไม่ให้พวกชาวเมืองรู้ พระนางศุภยาลัต จึงทรงให้จัดงานเลี้ยงตลอดสาม ให้ชาวเมืองเที่ยวงานให้สนุก อีกทั้งพระเจ้าธีบอก็จัดให้ดื่มน้ำจัณฑ์จนเมามายเพื่อไม่ให้สนใจการสังหารครั้งนั้น เมื่อสังหารแล้วก็จับโยนใส่หลุมใหญ่ข้างวังรวมกัน แล้วเอาดินกลบ แต่พอพ้นสามวัน ศพเหล่านั้นเริ่มขึ้นอืดจนเนินหลุมที่ฝังพูนขึ้น ก็เอาช้างหลวงมาเหยียบย่ำให้ดินที่นูนขึ้นมานั้นแบนราบลง แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถปิดบังหลุมใหญ่นั้นได้ เพราะจำนวนศพมีมากจนดันเนินดินให้นูนขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า สุดท้ายก็ต้องให้ขุดศพใส่เกวียนไปฝังบ้าง ทิ้งน้ำบ้าง จนเป็นเรื่องที่มีการเล่าขานมากที่สุดคือการสำเร็จโทษเหล่าพระบรมวงศ์สานุวงศ์น้อยใหญ่ เป็นเวลา 3 คืน เล่ากันว่าคืนนั้นสุนัขเห่าหอนทั้งคืน จนชาวเมืองผวาไม่เป็นอันหลับอันนอน พระนางจัดให้เอาวงดนตรีปี่พาทย์ การแสดงต่าง ๆ มาบรรเลงในวังตลอดเวลาที่ทำการสำเร็จโทษพวกเจ้านาย เพื่อให้เสียงดนตรีปี่กลองกลบเสียงกรีดร้องขอชีวิต

พระเจ้าธีบอและพระนางศุภยาลัตทรงมีพระธิดาร่วมกัน 4 พระองค์ได้แก่

จากซ้าย: พระราชธิดาองค์ที่สี่ เจ้าหญิงเมียะพยากเล, พระราชธิดาองค์ที่หนึ่ง เจ้าหญิงเมียะพยาจี, พระราชธิดาองค์ที่สาม เจ้าหญิงเมียะพยา และพระราชธิดาองค์ที่สอง เจ้าหญิงเมียะพยาลัต หรือ เจ้าหญิงมยะพะยาละ

การสูญสิ้นอำนาจ

พระนางศุภยาลัต ไม่พอใจที่อังกฤษให้ค่าสัมปทานป่าไม้น้อย และฝรั่งเศสทำท่าจะเข้ามาเสนอให้มากกว่าประกอบกับมีการกล่าวหาว่าอังกฤษลอบตัดไม้เกินกว่าที่ได้รับสัมปทาน พม่าเลยสั่งปรับอย่างหนักถึง 1 ล้านรูปี อังกฤษก็ไม่พอใจยื่นประท้วง แต่พม่าไม่ยอม ตอนนั้นพระนางศุภยาลัตคิดว่าตัวเองมีฝรั่งเศสหนุนหลัง แต่ต่อมาเกิดเรื่องเข้าจริงๆ ฝรั่งเศสก็วางตัวเป็นกลาง

วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2428 อังกฤษก็เริ่มส่งข้อเรียกร้องขั้นเด็ดขาด และพม่ายอมไม่ได้ เช่น ให้อังกฤษเป็นคนควบคุมนโยบายการค้าการเดินเรือของพม่าทั้งหมดฯลฯ มิฉะนั้นจะรบกับพม่า ซึ่งขณะนั้นอังกฤษได้ยึดพม่าได้ทางใต้ได้แล้วจากสนธิสัญญายันดาโบ

พระเจ้าธีบอตามพระทัยมเหสีจึงสั่งให้เตรียมพลไปรบ อังกฤษก็ให้นายพลแฮร์รี เพนเดอร์กาส นำทหารทั้งฝรั่งและอินเดียเคลื่อนพลเข้ารบ จากย่างกุ้งบุกไปตามลำน้ำอิรวดีถึงมัณฑะเลย์ ใช้เวลาแค่ 14 วันก็ยึดเมืองหลวงได้ นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ให้ความเห็นว่า นอกเหนือจากอาวุธที่ดีกว่าอย่างเทียบไม่ติด แต่เหตุผลสำคัญที่สุดคือราษฎรไม่คิดจะต่อสู้เพราะไม่รู้จะสู้ไปเพื่ออะไร เนื่องจากรัฐบาลของพระเจ้าธีบอโดยพระนางศุภยาลัต กดขี่พวกเขามาตลอด บ้านเมืองจึงขาดความสามัคคีขนาดหนัก เนื่องจากกษัตริย์และมเหสีไม่เคยทำตนให้เป็นที่รักของประชาชนพม่าของพระองค์เอง พระเจ้าธีบอ และพระนางศุภยาลัตจึงถูกเชิญให้ไปยังเมืองรัตนคีรี ซึ่งเป็นการสิ้นสุดเอกราชของพม่า และการปกครองโดยราชวงศ์อลองพญาที่มีอย่างยาวนาน

บรรยากาศท่าเรือขณะคุมตัวกษัตริย์พม่า

ถูกเชิญออกนอกประเทศ

ขณะที่พระเจ้าธีบอ และพระนางศุภยาลัตถูกเชิญออกนอกประเทศเชิงกักกันที่เมืองมัทราสราว 2-3 เดือน ภายหลังจึงส่งไปประทับถาวรที่เมืองรัตนคีรีเมืองเล็กๆ ทางชายฝั่งทะเล ทางใต้เมืองบอมเบย์(มุมไบในปัจจุบัน) พระนางศุภยลัตเกิดทะเลาะกับพระนางอเลนันดอผู้เป็นแม่ จนพระนางอเลนันดอต้องขอกลับพม่า อังกฤษก็ยอมให้กลับคุมตัวไว้ที่ เมืองเมาะลำเลิงจนสิ้นพระชนม์ พระเจ้าธีบอกับพระนางศุภยลัตถูกเนรเทศอยู่ที่อินเดียนาน 31 ปี จนพระเจ้าธีบอจึงสิ้นพระชนม์ที่เมืองรัตนคีรีนั่นเอง พระนางจึงได้รับอนุญาตให้พาลูกสาวไปอยู่ย่างกุ้ง ส่วนพระศพพระเจ้าธีบอนั้นฝังไว้ที่อินเดียคืนสู่พม่า

ต่อมา พระนางได้กลับมาสู่พม่าที่เมืองย่างกุ้ง ทรงเครียดแค้นขุนนางพม่าที่ไปเข้ากับอังกฤษ มีฝรั่งเขียนเกี่ยวกับพระนางไว้ว่า เมื่อพระนางแก่ตัวเข้าและรู้สำนึกในชีวิตแล้ว ทรงสงบเสงี่ยม สุภาพ น่าสงสาร ทรงเลี้ยงสุนัขเป็นเพื่อน และเสียพระทันต์ทั้งหมด พระนางอยู่ในตำหนักที่อังกฤษจัดถวายให้ในเมืองย่างกุ้ง 10 ปี จึงสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ขณะพระชนมายุ 65 พรรษา การจัดการพระศพก็เป็นไปตามยถากรรม ไม่ได้มีพิธีรีตองมากมายไม่ต่างจากคนทั่วไป

กู่มณฑปบรรจุพระอัฐิของพระนางศุภยาลัต

ปัจจุบันยังมีที่ฝังพระศพอยู่ในย่างกุ้ง โดยรัฐบาลอังกฤษจัดการพระศพให้ตามธรรมเนียม แต่ไม่อนุญาตให้เชิญพระศพขึ้นไปที่ราชธานีกรุงมัณฑะเลย์ คงอนุญาตเพียงแต่ทำเป็นมณฑปบรรจุพระอัฐิเท่านั้น ปัจจุบันนี้อยู่ที่ถนนเจดีย์ชเวดากอง ห่างจากบันไดด้านทิศใต้ของพระเจดีย์ชเวดากองมาประมาณ 200 เมตร สร้างเป็นกู่ทรงมณฑปยอดปราสาทแบบพม่า ก่ออิฐฉาบปูนขาว รูปทรงคล้ายที่ฝังพระศพของพระเจ้ามินดงในกรุงมัณฑะเลย์

ข้อมูลและภาพจาก mthai



บทความแนะนำ


ครีเอเทอร์สติ๊กเกอร์ชีวิตประจำวันแบบฝึกหัดบรรยากาศแว่นตาแฟชั่นแว่นตาทรงผมทรงผมสั้นทรงผมประบ่าทรงผมถักเปียดูดวงดวงความรัก