วิธีสังเกตตำรวจตั้งด่านว่าถูกกฎหมายหรือเปล่า จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของ "ด่านลอย"

อ่าน 14,741

ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ขับขี่บนท้องถนน เชื่อว่าร้อยทั้งร้อยต้องเคยพบเห็นป้าย "หยุดตรวจ" อย่างแน่นอน แม้ป้ายจะเขียนว่าหยุดตรวจ แต่ตำรวจไม่ได้หยุดตรวจนะจ๊ะ เพราะเขาบอกให้ผู้ขับขี่หยุดรถเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจนั่นเอง วิธีที่จะผ่านด่านตรวจไปได้อย่างปลอดภัยไร้กังวลและไม่ต้องคอยสืบหาข้อมูลว่าละแวกไหนตั้งด่านตรวจบ้างนั้นก็คือ "การปฏิบัติตามกฎระเบียบจราจรให้ถูกต้อง" เพื่อที่คุณจะได้ขับรถไปบนถนนทุกสายอย่างสบายใจไม่ต้องกลัวความผิดใดๆ

แต่?แต่?โลกไม่ได้สวยงามเช่นนั้น เพราะหลายครั้งหลายครามักเกิดปัญหาเจ้าหน้าที่จราจรและผู้ขับขี่โต้เถียงไม่ยอมความกันเพราะปัญหาเรื่องการตั้งด่านและค่าปรับ เนื่องจากบางครั้งด่านตรวจที่คุณพบเจอนั้นเป็น "ด่านลอย" และด่านเถื่อน หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่าด่านจ๊ะเอ๋นั่นเอง !

ด่านลอยคืออะไร ?

หากไม่เข้าใจความหมายของด่านลอย ให้ลองนึกภาพตำรวจจราจรแอบอยู่หลังเสาไฟ หลบอยู่ตามต้นไม้ แล้วจู่ๆ ก็กระโจนออกไปโบกรถเพื่อขอตรวจ หรือไม่ก็เป็นการตั้งที่ไม่ได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชา บางครั้งก็อาจไม่มีป้ายสัญญาณหยุดตรวจก่อนถึงด่าน และที่สำคัญไม่มีป้ายแสดงชื่อนายตำรวจที่รับผิดชอบด่าน แน่นอนว่าผู้ขับขี่หลายๆ รายก็ถูกปรับและโดนใบสั่งไปตามระเบียบ เลยทำให้เกิดกระแส #เจอด่านแล้วบอกด้วย ในโลกออนไลน์อยู่ช่วงหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีเรื่องการรับเงินสินบนจากผู้ขับขี่ ซึ่งเป็นปัญหาที่สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และเกิดการตั้งคำถามต่อกฎระเบียบวินัยของเจ้าพนักงาน

ปัญหาด่านลอยมักเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีการสั่งยกเลิกด่านลอยทั่วประเทศ อนุญาตให้ประชาชนสามารถถ่ายภาพหรือคลิปวิดิโอเข้ามาร้องเรียนได้ หากพบว่ามีการตั้งด่านที่ไม่ถูกต้อง จะมีบทลงโทษอย่างเด็ดขาดต่อเจ้าหน้าที่ เพราะบางครั้งมักเกิดปัญหาตำรวจจราจรต้องการออกใบสั่งเพื่อหวังเงินส่วนแบ่งค่าปรับอย่างไม่โปร่งใส (อ้างอิงจาก : Posttoday)

มาตรการปฏิบัติเกี่ยวกับการตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ และจุดสกัด

ในฐานะ "ผู้ขับขี่" ทราบหรือไม่ว่าการที่ตำรวจจราจรจะตั้งด่านตรวจได้นั้นจะต้องปฏิบัติตามมาตรการของสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย ไม่ใช่ว่านึกอยากจะตั้งด่านก็ตั้งได้ เราจึงนำวิธีการสังเกต "ด่านตรวจที่ถูกกฎหมาย" มาให้เพื่อนๆ ทำความเข้าใจกัน เพราะจะได้รู้เท่าทันผู้ไม่ประสงค์ดีและแก๊งค์มิจฉาชีพนะ

1. ด่านตรวจ หมายถึง สถานที่ทำการที่เจ้าพนักงานตำรวจออกปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจค้นเพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดในเขตทางเดินรถ และการตั้งด่านตรวจจะต้องได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวงหรือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอ.รมน. (ต้องได้รับมอบหมายจากผู้บังคับบัญชา)

2. จุดตรวจ หมายถึง สถานที่ที่เจ้าพนักงานตำรวจออกมาปฏิบัติหน้าที่ตรวจค้น เพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดในเขตทางเดินรถ หรือทางหลวง โดยมีกำหนดระยะเวลาเท่าที่มีความจำเป็น แต่ต้องไม่เกิน 24 ชั่วโมง และเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจแล้ว จะต้องยุบเลิกจุดตรวจดังกล่าวทันที

3. จุดสกัด หมายถึง สถานที่ที่เจ้าพนักงานตำรวจออกปฏิบัติหน้าที่ตรวจค้น เพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดในเขตทางเดินรถหรือทางหลวง ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเกิดขึ้นและจะต้องยุบเลิกเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจดังกล่าว

4. การจัดตั้งจุดตรวจ จุดสกัด คือ ห้ามมิให้ตั้งด่านตรวจ จุดตรวจ หรือจุดสกัด ในเขตทางเดินรถหรือทางหลวง

5. การจัดตั้งด่านตรวจ จะกระทำได้ ต้องได้รับอนุมัติจาก ครม.หรือผู้มีอำนาจตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวง หรือ กอ.รมน.

6. การจัดตั้งจุดตรวจ จะต้องได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชาตั้งแต่ชั้นผู้บังคับการตำรวจภูธร(ผบก.) ขึ้นไป โดยพิจารณาว่าเป็นกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็นอย่างยิ่ง และต้องมีกำหนดระยะเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง

7. การจัดตั้งจุดสกัด จะตั้งได้เฉพาะกรณีที่มีเหตุการณ์ฉุกเฉิน หรือจำเป็นเร่งด่วนเกิดขึ้น และจะต้องได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชา ตั้งแต่ระดับหัวหน้าสถานีตำรวจ หรือผู้รักษาการแทนขึ้นไป โดยมีกำหนดระยะเวลาเวลาเท่าที่มีเหตุการณ์ฉุกเฉิน หรือจำเป็นเร่งด่วนดังกล่าวยังคงมีอยู่เท่านั้น

8. การปฏิบัติหน้าที่ ณ ด่านตรวจ จุดตรวจ หรือจุดสกัด จะต้องมีนายตำรวจชั้นสัญญาบัตรระดับตั้งแต่รองสารวัตรขึ้นไปเป็นหัวหน้า และจะต้องแต่งเครื่องแบบในการปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว

9. การปฏิบัติในการตรวจค้น จับกุม ต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและประมวลระเบียบการตำรวจโดยเคร่งครัด

10. ที่ด่านหรือจุดตรวจ ต้องมีแผงกั้นที่มีเครื่องหมายการจราจรว่า "หยุด" โดยให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ด่านตรวจหรือจุดตรวจ จะต้องมีในการติดตั้งป้ายและเครื่องหมายจราจร

11. ในเวลากลางคืน จะต้องมีแสงไปส่องสว่างให้มองเห็นได้อย่างชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 150 เมตร ก่อนถึงจุดตรวจ และให้มีแผ่นป้ายแสดงยศ ชื่อ นามสกุล และตำแหน่งของหัวหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ประจำด่านตรวจและจุดตรวจดังกล่าว นอกจากนั้นให้มีแผ่นป้ายแสดงข้อความว่า หากพบเจ้าหน้าที่ทุจริต หรือประพฤติมิชอบให้แจ้งผู้บังคับการ พร้อมมีการระบุหมายเลขโทรศัพท์ของผู้บังคับการตำรวจภูธร (ผบก.) ไว้ ข้อความดังกล่าวข้างต้นให้มองเห็นได้อย่างชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 15 เมตร

12. ให้หัวหน้าสถานีตำรวจ เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ทุกชนิด ที่ใช้สำหรับการตั้งจุดตรวจไว้อย่างครบถ้วน และพร้อมใช้การได้ตลอดเวลา

13. การตั้งจุดตรวจ หรือจุดสกัด ให้ทุกหน่วยประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยใกล้เคียงชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบติดต่อกัน ในการกำหนดแผนการตั้งจุดตรวจในภาพรวมของหน่วย เพื่อมิให้เกิดการซ้ำซ้อน ทำให้เกิดปัญหาการจราจรและเกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน

"เงินค่าปรับ" ตำรวจได้แล้วเอาไปไหน ?

หลายๆ คนอาจสงสัยว่าเงินค่าปรับที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกปรับจากผู้ทำผิดกฎหมายจราจรนั้น ปลายทางของเงินอยู่ที่ไหนกันแน่ ? จากการใช้พรบ.ข้อมูลข่าวสารของสื่อหลายสำนักเพื่อขอข้อมูลจากกองบังคับการจราจร ในการขอเปิดเผยจำนวนเงินค่าปรับสรุปรวมในแต่ละปีว่ามีจำนวนเท่าไหร่นั้น จากข้อมูลของปี พ.ศ. 2555-2557 พบว่ามีมูลค่ากว่าร้อยล้านบาท ซึ่งตัวเลขเหล่านี้เป็นจำนวนเงินค่าปรับจากการตั้งด่านที่ถูกต้องตามมาตรการ แต่ทั้งนี้ในอีกแง่หนึ่งก็นับว่าเป็นการสะท้อนถึงการไม่เคารพกฎหมายและวินัยจราจรของผู้ใช้รถใช้ถนนในประเทศไทย

ส่วนปลายทางของเงินค่าปรับจราจรนั้น ร้อยละ 95 จะเป็นเงินรางวัลของเจ้าหน้าที่ผู้จับ แต่ก็มีการตั้งกฎไว้ว่า ต้องไม่เกินคนละ 10,000 บาทต่อเดือน ส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 5 นำไปแบ่งออกเป็น 2 ส่วนเพื่อใช้เป็นเงินรายได้แผ่นดินและใช้สำหรับกองทุนสืบสวน

นอกจากการศึกษาข้อมูลเพื่อจะได้ทราบว่า ด่านที่ถูกต้องตามกฎหมายเป็นอย่างไรแล้วนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ ผู้ขับขี่จะต้องเคารพกฎหมายและมีวินัยจราจรซึ่งนอกจากจะเป็นการสร้างความเป็นระเบียบบนท้องถนนแล้วยังลดการเกิดอุบัติเหตุได้อีกด้วย

ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก: Rabbit



บทความแนะนำ


เรียนเมืองนอกเรียนต่างประเทศเอฟบีไอพ่อค้ายาเสพติดเม็กซิโกดูดวงความรักความหมายรักคาร์เนชั่นการศึกษาทรงผมทรงผมสั้นทรงผมประบ่าทรงผมถักเปียดูดวงดวงความรัก