กระจ่าง! "กากี" คำนี้มีที่มาอย่างไร แล้วทำไมชุดข้าราชการต้องสีกากี !

อ่าน 10,261

"กากี" เป็นคำที่มักคิดกันอยู่สองความหมาย ไม่คิดถึงสีเครื่องแบบข้าราชการ ก็คงคิดถึงนางกากี (กับครุฑ) แต่หลายคนคงใคร่จะทราบว่า "กากี" ในภาษาไทยมีที่มาอย่างไร และความหมายว่าอย่างไรบ้าง

คำว่า "กากี" ในภาษาไทยมีใช้ 1 ความหมาย คือ

1. "กากี" มาจากภาษาบาลี-สันสกฤต แปลว่า "กาตัวเมีย" โดยมาจากคำว่า "กาก" แปลว่า "กา" แต่เติม "อีการันต์" เพื่อแสดงเพศเป็นเพศหญิง (หรือ "สตรีลิงค์" ในภาษาสันสกฤต, หรือ "อิตถีลิงค์" ในภาษาบาลี) ดังนั้น "กากี" ในความหมายนี้จึงแปลว่า "นางกา, กาตัวเมีย" คู่กับ "กาก" ที่แปลว่า "นกกา, กาเพศผู้"

2. "กากี" ที่แปลว่า "หญิงมากชู้หลายผัว, หญิงแพศยา" มาจากวรรณคดีไทยเรื่องกากี ซึ่งปรากฏอยู่หลายฉบับทั้งกากีคำฉันท์ (ไม่ทราบชื่อผู้แต่ง) บทเห่เรื่องกากี พระนิพนธ์เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ และกากีคำกลอน บทนิพนธ์ของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เป็นต้น

กากีของไทยมีที่มาจากชาดกในพระพุทธศาสนาเถรวาทจำนวน ๓ เรื่อง คือกากาติชาดก สุสันธีชาดก คุณาลชาดก กล่าวถึงพญาครุฑลักนางกากาติมเหสีพระเจ้าพรหมทัตไปแล้วถูกจับได้ พญาครุฑจึงนำนางมาคืน แล้วพระเจ้าพรหมทัตได้สั่งให้ลอยแพนางกากี ชาดกนี้ประสงค์จะสั่งสอนเรื่องมายาสตรี จึงนำ "นางกากี" มาเปรียบกับ "หญิงมากชู้หลายผัว, หญิงแพศยา" จัดอยู่ในชุดนางในวรรณคดีไทยคนอื่นๆ ที่มักถูกประณาม คือโมรา กากี วันทอง

3. "กากี" แปลว่า "สีน้ำตาลปนเหลือง, สีสนิมเหล็ก" คำนี้อาจารย์ดิเรก กุลสิริสวัสดิ์ อธิบายไว้ (ในหนังสือความสัมพันธ์ของมุสลิมทางประวัติศาสตร์และวรรณคดีไทย) ว่า "สีกากีเป็นสีเครื่องแบบทหารของอินเดีย โดยเฉพาะในแคว้นปันญาบ (ปัญจาบ) เมื่อประมาณ ๑๐๐ กว่าปีนี้ คำนี้เรียกในอินเดียว่าคากี จากศัพท์เปอร์เซีย คาก-Khak ซึ่งแปลว่าฝุ่นหรือดิน แต่ก่อนนี้เราก็เรียกสีคากี แล้วมาเพี้ยนเป็นกากี"

ภาษาอังกฤษใช้ว่า khaki ซึ่งมีความหมายว่า "สีน้ำตาลปนเหลือง, สีสนิมเหล็ก" ก็น่าจะมาจากรากศัพท์ภาษาเปอร์เซียนี่เอง

ทางเว็บไซต์ ร้านข้าราชการไทย ได้เผยถึงเหตุผลที่เครื่องแบบข้าราชการต้องเป็นสีกากีนั้น มีหลากหลายความเห็นพอจะสืบสาวราวเรื่องได้ว่า ยุคล่าอาณานิคมนั้น ทหารอังกฤษที่ประจำการ ณ ประเทศอินเดียนั้นใช้เครื่องแบบสีกากีเพราะอังกฤษได้ศึกษามาแล้วว่าสีนี้ดูดความร้อนน้อยที่สุด เหมาะสำหรับเป็นเครื่องแบบในประเทศเขตร้อน ทำให้ประเทศแถบอเชียใต้ได้รับอิทธิพลนี้ ประเทศสยามสมัยนั้นต้องปฏิรูปประเทศเพื่อรักษาเอกราชให้พ้นภัยจากเหล่านักล่าอาณานิคม จึงนำสีกากีมาเป็นเครื่องแบบข้าราชการ

นอกจากหากมองแง่ความหมายของ "สีกากี" แล้ว หากมองบริบทของประเทศเราแล้วจะเห็นว่าเราเป็นสังคมเกษตรกรรมทำไร่ไถนา สีกากีนั้นเป็นสีดินสีฝุ่นอยู่แล้ว เวลาออกไปราชการงานช่วยเหลือชาวบ้านไม่ต้องกังวลว่าจะเลอะเปรอะเปื้อน

หากจะมองในเชิงกุศโลบายแล้วอาจเห็นว่า "สีกากี" เป็นสีของดิน ข้าราชการควรต้องติดดิน ออกพื้นที่รับฟังปัญหาของชาวบ้าน ข้าราชการ คือ ข้าที่ทำกิจการต่างๆ ให้กับพระราชา เครื่องแบบข้าราชการสีกากี คือ สีแห่งข้ารับใช้แผ่นดิน

ข้อมูลและภาพจาก silpa-mag / ร้านข้าราชการไทย



บทความแนะนำ


แม่ค้าผัดหมี่หนุ่มเทศบาลแม่ค้าสู้ชีวิตท่องเที่ยวข่าวล่าสุดนครศรีธรรมราชทิปส์ท่องเที่ยวทรงผมทรงผมสั้นทรงผมประบ่าทรงผมถักเปียดูดวงดวงความรัก