ปลูกกล้วยขายใบ...โกยเงินชิลๆเดือนละ 40,000-50,000 บาท

อ่าน 3,082

ทุกวันนี้ คนไทยรุ่นใหม่สนใจทำอาชีพการเกษตรกันน้อยลง เพราะมองว่า อาชีพการเกษตรเป็นงานที่หนัก ทำงานเหนื่อยยาก สายตัวแทบขาด แต่ได้ผลตอบแทนต่ำ ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ความจริง ภาคการเกษตรยังมีอีกหลายอาชีพที่น่าสนใจ เช่น อาชีพการปลูกกล้วยตานีเพื่อขายใบตอง ที่ใช้เงินลงทุนน้อย แต่ให้ผลตอบแทนสูง เรียกว่าฟันผลกำไรงามมาก ถึงร้อยละ 90 กันเลยทีเดียว

ในฉบับนี้ ขอพาท่านผู้อ่านไปพูดคุยกับ ?คุณปรีชา เวฬุมาศ? หรือที่ผู้คนในชุมชนเรียกติดปากว่า ?กำนันปรีชา? เกษตรกรคนเก่งรายนี้ประสบความสำเร็จในเส้นทางอาชีพการปลูกกล้วยตานีเพื่อตัดใบขาย จนสร้างฐานะครอบครัวได้อย่างมั่นคง ปัจจุบัน กำนันปรีชาและครอบครัวพักอาศัยอยู่ บ้านเลขที่ 28/2 หมู่ที่ 10 ตำบลย่านยาว อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย โทร. (087) 349-9322

กำนันปรีชา มีจุดเริ่มต้นจากชีวิตชาวนา มีที่ดินทำกิน จำนวน 70 ไร่ แต่เส้นทางอาชีพชาวนาของเขากลับไม่ราบรื่น แม้ทำงานหนัก แต่ไม่ประสบความสำเร็จด้านรายได้ เนื่องจากทำนาปลูกข้าวได้แค่ปีละครั้ง และขายข้าวได้ราคาถูก เขาเป็นเกษตรกรที่ทำงานสู้ชีวิต เมื่อเว้นว่างจากการทำนา ก็หารายได้เสริม มารับจ้างสอยใบตองให้กับสวนกล้วยของเพื่อนบ้าน ทำให้รู้ว่า อาชีพการทำสวนกล้วยตานีเพื่อขายใบตอง ให้ผลตอบแทนที่ดีมาก

เมื่อ 10 กว่าปีก่อน เขาตัดสินใจเปลี่ยนอาชีพ หันมาปลูกกล้วยตานีเพื่อตัดใบขาย โดยกู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อสร้างสวนกล้วยตานีเป็นของตัวเอง นับว่า อาชีพนี้ถูกโฉลกกับดวงชะตาเขามากที่สุด เพราะช่วยสร้างฐานะครอบครัวให้มั่นคง และสร้างรายได้ที่ยั่งยืนมาจนถึงทุกวันนี้

ในครั้งแรก กำนันปรีชาทดลองปลูกกล้วยตานีเพื่อขายใบ เพียงแค่ 5-6 ไร่ ปรากฏว่า สามารถสร้างรายได้รายวัน เฉลี่ยวันละ 200-300 บาท ทำให้เขาเกิดกำลังใจ ที่จะมุมานะทำงานมากขึ้น เริ่มจากขยายพื้นที่การปลูกกล้วย พร้อมกับพัฒนาช่องทางการตลาดควบคู่กันไป ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นหลายพันบาทต่อวัน

เมื่อกำนันปรีชามั่นใจว่า เขาเลือกเส้นทางอาชีพที่เหมาะสมกับตัวเองได้แล้ว ก็ไม่รีรอที่จะขยายกิจการอย่างต่อเนื่อง จนทุกวันนี้เขามีพื้นที่ทำสวนกล้วยตานีกว่า 240 ไร่ ซึ่งเป็นที่ดินส่วนตัวของกำนันปรีชา จำนวน 70 ไร่ นอกนั้นเป็นที่ดินเช่าเพื่อนำมาปลูกกล้วย โดยจ่ายค่าเช่าในอัตรา 1,500 บาท ต่อไร่ ต่อปี คุ้มเสียยิ่งกว่าคุ้ม เพราะการทำสวนกล้วย สามารถขายใบตอง เครือกล้วย ปลีกล้วย ทุกส่วนของต้นกล้วยขายได้ทั้งหมด แล้วยังเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ตลอดปี หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว ยังมีเงินเก็บฝากธนาคารได้ทุกปีแล้ว ยังมีเงินเหลือใช้สำหรับเปลี่ยนรถยนต์ใหม่ได้ทุกๆ 1-2 ปีอีกด้วย

การปลูกดูแลสวนกล้วยตานี

ที่ผ่านมา ภาครัฐได้จัดหาเครื่องสูบน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้าเข้ามาใช้ในระบบชลประทานของพื้นที่ตำบลย่านยาว ทำให้สวนกล้วยตานีเพื่อตัดใบตองในท้องถิ่นแห่งนี้ จึงมีน้ำสำหรับใช้ดูแลสวนกล้วยตลอดทั้งปี ทำให้ต้นกล้วยไม่ขาดน้ำและเจริญเติบโตสมบูรณ์ ให้ผลผลิตที่ดี ตรงตามความต้องการของตลาด

การทำสวนกล้วยตานีของกำนันปรีชา เริ่มต้นจากการเตรียมดิน โดยใช้รถไถพรวนด้วยผาล 3 ระเบิดดินก่อนสัก 1 ครั้ง ก่อนปรับพื้นที่สวนให้เรียบ เพื่อไม่ให้น้ำขัง และไถพรวนด้วยผาล 7 ย่อยดินก่อนปลูก กำนันปรีชาจะเริ่มลงมือปลูกกล้วยในช่วงหน้าฝน ประมาณเดือนพฤษภาคม-เดือนกรกฎาคม

สำหรับ พื้นที่ 1 ไร่ จะใช้หน่อกล้วย 250 หน่อ ขุดหลุมกว้างลึก 30 เซนติเมตร ปลูกให้เหง้าอยู่ใต้ดิน 6-8 นิ้ว กลบดินบริเวณโคนให้แน่น ปลูกในระยะห่างประมาณ 5 ศอก ในท้องถิ่นแห่งนี้ มักเจอปัญหาพายุลมร้อนในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ทำให้ใบตองแตกได้ กำนันปรีชาจึงวางแผนป้องกันโดยปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น เช่น ต้นมะม่วง มะปราง ฯลฯ รอบแปลง เพื่อเป็นแนวกันลมรักษาคุณภาพใบตองไม่ให้แตกฉีกขาด

เมื่อต้นกล้วยตานี แตกใบออกมาที่ส่วนยอด กำนันปรีชาจะเริ่มดูแลใส่ปุ๋ย สูตร 46-0-0 จำนวน 2 กระสอบ เพื่อบำรุงต้นกล้วยตานีในพื้นที่ปลูกทุกๆ 5 ไร่ ที่นี่จะนิยมใส่ปุ๋ยในช่วงฤดูฝน เฉลี่ยปีละ 2-3 ครั้ง และคอยสังเกตจากสภาพความสมบูรณ์ของต้นกล้วยตานี หากพบว่าใบกล้วยมีสีเขียวเข้ม แสดงว่า สภาพต้นสมบูรณ์ แข็งแรง ไม่ขาดธาตุอาหาร หากใบตองแก่มีสีจาง แสดงว่า ธาตุอาหารในดินเริ่มหมด ก็จะเติมปุ๋ยเคมีบริเวณโคนต้นกล้วยอีกครั้ง

สวนกล้วยตานีปลูกดูแลง่าย ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรคและแมลงศัตรูพืช แต่หน้าฝน อาจเจอ ด้วงงวงเจาะลำต้น หรือปัญหาใบตองเป็นรอยพรุนบ้างประปราย ก็แก้ไขปัญหาแบบง่ายๆ โดยให้ธาตุเหล็ก คือ มีดอีโต้ ตัดฟันต้นกล้วยหรือใบตองเจ้าปัญหาทิ้งซะ เมื่อใบตองรุ่นใหม่แตกยอดออกมาก็มีใบสวยพริ้ง ไร้ริ้วรอยพรุนให้เห็นกวนใจอีก ส่วนปัญหาวัชพืชที่ขึ้นในแปลงกล้วย ที่นี่จะไม่ใช้ยาฆ่าหญ้าประเภทยาดูดซึมฉีดพ่นทำลายวัชพืช เพราะเสี่ยงทำให้ต้นกล้วยโทรมได้ ต้องอาศัยแรงงานคนทำหน้าที่กำจัดวัชพืชในแปลงกล้วยแทน

การเก็บเกี่ยว

หลังปลูกดูแลต้นกล้วยตานีไปได้ ประมาณ 6 เดือน ก็เริ่มเก็บเกี่ยวใบตองออกขายได้บางส่วน โดยทั่วไปต้นกล้วยตานีจะให้ผลผลิตเต็มที่ เมื่ออายุครบ 1 ปี การทำสวนกล้วยตานีแห่งนี้ จะทยอยตัดใบตองแบบหมุนเวียนกันไป โดยตัดใบกล้วย ออกขายทุกๆ 15 วัน กล้วยตานี 1 ต้น จะตัดใบตองได้ 2 ยอด พื้นที่ปลูก 1 ไร่ จะได้ใบตอง จำนวน 500 ยอด ภายหลังการเก็บเกี่ยว จะใส่ปุ๋ย สูตร 15-15-15 ปีละครั้ง ในช่วงฤดูฝนประมาณเดือนพฤษภาคม โดยพื้นที่ปลูก 5 ไร่ จะใส่ปุ๋ย จำนวน 2 กระสอบ

อย่างที่บอกตั้งแต่แรกว่า การทำสวนกล้วยตานีให้ผลตอบแทนที่สูงมาก นอกจากขายใบตองเป็นสินค้าหลักสร้างรายได้เข้ากระเป๋าไม่ต่ำกว่าเดือนละ 40,000-50,000 บาทแล้ว กำนันปรีชายังมีรายได้เสริมจากการขายหัวปลี หัวละ 4 บาท เครือกล้วยอ่อน ขายหวีละ 4 บาท สำหรับผลกล้วยอ่อน ชาวอีสานนิยมนำมาสับเพื่อปรุงรสเป็นส้มตำ หรือ ?ตำกล้วย? นั่นเอง ขณะที่ชาวปักษ์ใต้นิยมนำกล้วยอ่อนไปยำหรือผัด

แม้กระทั่งต้นกล้วยที่ออกเครือแล้วก็ยังมีประโยชน์ทางการค้า กำนันจะตัดต้นกล้วยไปตากให้แห้ง ขายในลักษณะปอแห้ง ในราคากิโลกรัมละ 6 บาท เรียกว่า ต้นกล้วย 1 ต้น สามารถสร้างรายได้ทุกส่วนกันเลยทีเดียว จึงไม่น่าประหลาดใจกับคำกล่าวของกำนันปรีชาที่ว่า สวนกล้วยที่ปลูกใหม่ แค่ตัดใบตองออกขายเพียงเดือนเดียว ก็มีรายได้คุ้มกับค่าเช่าที่ดินตลอดทั้งปีแล้ว

การทำสวนกล้วยตานีเพื่อขายใบ ถือเป็นอาชีพที่สบาย แถมให้ผลตอบแทนที่ดีมากๆ เพราะลงทุนปลูกแค่ครั้งเดียว สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้เรื่อยๆ เมื่อเข้าสู่ปีที่ 2-3 ต้นกล้วยตานีจะขยายหน่อปลูกได้เอง เมื่อต้นแม่ตาย ก็จะแตกหน่อสร้างทายาทรุ่นใหม่ขึ้นมาแทนที่สม่ำเสมอ ทำให้มีจำนวนต้นกล้วยต่อไร่มากขึ้นแล้ว ยังตัดใบตองออกมาได้มากขึ้นอีกด้วย

การจัดการหลังเก็บเกี่ยว

ท้องถิ่นแห่งนี้นิยมตัดใบตอง วันละ 2 ครั้ง คือ ช่วงเช้าและเย็น โดยคนงานจะใช้ตะขอสอยที่ก้านใบลงมา และขนกลับไปที่บ้านกำนัน โดยนำใบตองกองบนพื้น รดน้ำและใช้ผ้าใบคลุมไว้ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้น ไม่ให้ใบตองเหี่ยว หลังจากนั้น ภรรยากำนัน ลูกสาว และคนงานจะนั่งล้อมวงช่วยกันทำงานอย่างขะมักเขม้น เพื่อดูแลตัดแต่งใบตองก่อนพับใบตองและมัดซ้อนกันอย่างสวยงาม จนได้น้ำหนักเฉลี่ย มัดละ 5 กิโลกรัม ก่อนส่งขายแม่ค้าขาประจำ ช่วงแล้งเกษตรกรสามารถขายใบตองได้ในราคาสูง ประมาณ มัดละ 40 บาท แต่ช่วงหน้าฝน ใบตองมีราคาถูก ขายได้เพียง มัดละ 20 บาท เท่านั้นด้านตลาด

กำนันปรีชา บอกว่า ตลาดใบตองเติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี เพราะเป็นที่ต้องการของตลาดในประเทศ ลูกค้ากลุ่มใหญ่คือ ร้านค้าหมูยอในภาคอีสาน นิยมซื้อใบตองตานีจากสวนแห่งนี้ไปใช้ เพราะใบตองของกำนันปรีชามีคุณภาพดี เมื่อนำไปนึ่งผ่านความร้อน ใบตองไม่ดำ เนื้อใบตองจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองอ่อนสะดุดตาลูกค้า

นอกจากนี้ ใบตองตานีของไทยยังเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มยุโรป อเมริกา และเอเชีย เนื่องจากมีร้านอาหารไทยอยู่เป็นจำนวนมากในกลุ่มประเทศเหล่านี้ และนิยมสั่งซื้อใบตองตานีจากไทยไปใช้ประดับตกแต่งจานอาหารและห่อขนมไทย ราคาใบตองตานีของไทยขายได้ราคาแพง เฉลี่ยยอดละ 100 บาท เพราะใบตองตานีของไทย มีคุณภาพดี ในเรื่องความสด ใบสวย เหนียวและหนา เมื่อนำไปห่อขนมไทยจะไม่กรอบแตกง่ายเหมือนกับใบตองชนิดอื่น

หากใครต้องการเยี่ยมชมหรือแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องการทำสวนกล้วยตานีเพื่อขายใบ สามารถติดต่อ กำนันปรีชา เวฬุมาศ ได้ตามที่อยู่ข้างต้น หรือที่เบอร์โทร. (087) 349-9322 กำนันปรีชายินดีแบ่งปันข้อมูลกับผู้สนใจทุกท่าน



บทความแนะนำ


AttackTitanข่าวล่าสุดนักศึกษาตกตึกภาพยนตร์เคล็ดลับความสวยพลัดตกตึกทรงผมทรงผมสั้นทรงผมประบ่าทรงผมถักเปียดูดวงดวงความรัก