คิดก่อนพูด!! 5 'ประโยคต้องห้าม' ที่ไม่ควรพูดกับเด็ก เพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน

อ่าน 5,532

วัยเด็กเป็นวัยที่ชอบเรียนรู้ ช่างสังเกต และจดจำสิ่งต่างๆ ได้ดี พวกเขามักจะจดจำสิ่งที่พ่อแม่พูดหรือสิ่งที่พ่อแม่ทำ

ดังนั้น คนที่เป็นพ่อแม่จึงต้องคิดให้มากและระวังคำพูดและการกระทำของตนเองอยู่เสมอ เพื่อที่เด็กจะได้จดจำแต่สิ่งที่ดีและเติบโตไปเป็นคนที่มีคุณภาพ ในวันนี้หมีขาวจึงมีคำพูดต้องห้ามที่ไม่ควรพูดกับเด็กมาฝากกัน ให้คุณพ่อคุณแม่คอยระวัง อย่าพูดคำเหล่านี้ออกมาเพราะอาจส่งผลเสียต่อเด็กได้ ไปดูกันเลยจ้า

1. ดื้อแบบนี้ เดี๋ยวให้หมอจับฉีดยาเลย / อย่าดื้อนะ เดี๋ยวผีมาเอาไปนะ

การขู่เด็กแบบนี้ จะทำให้เด็กมีความเข้าใจแบบผิดๆ เช่น การขู่ว่าผีจะมาจับไป เป็นการทำให้เด็กกลัวผีโดยใช่เหตุ เพราะพ่อแม่บอกว่าผีจะมาเอาไป แปลว่าผีต้องมีจริง เด็กอาจจะไม่สามารถอยู่ในห้องคนเดียวได้หรือไม่สามารถปิดไฟนอนหลับได้เพราะกลัวผี

และการขู่ว่าจะให้หมอจับฉีดยา อาจกลายเป็นปมฝังใจเด็กทำให้เด็กกลัวหมอ คิดว่าหมอเป็นผู้ที่จะมาทำอันตรายเขา คราวนี้ล่ะ คุณพ่อคุณแม่จะลำบากมากเวลาที่พาเขาไปฉีดยาหรือไปหาหมอเพราะเด็กจะไม่ยอมให้ความร่วมมือเลยเนื่องจากเขามีปมฝังใจไปแล้วว่าหมอจะทำอันตรายเขา ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรหลุดพูดคำขู่เหล่านี้ออกมา แต่ควรอธิบายด้วยเหตุผลจะดีกว่า

2. น่ารำคาญจริงๆ เลย

คำว่าน่ารำคาญ แม้แต่กับผู้ใหญ่บางคนก็ยังเป็นคำพูดที่รุนแรงกระทบกระเทือนจิตใจได้มาก แล้วจิตใจอันบอบบางของเด็กจะทนได้อย่างไร การพูดว่าน่ารำคาญ ทำให้เด็กสูญเสียความเชื่อมั่นในตนเอง เขาจะรู้สึกว่าพ่อแม่ไม่ต้องการเขา พ่อแม่ไม่รักเขา

ซึ่งการสูญเสียความเชื่อมั่นในตนเองนี้ส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็กอย่างมาก เช่น เด็กอาจกลายเป็นเด็กซึมเศร้า ไม่เล่น ไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงความเห็น เพราะกลัวจะถูกมองว่าน่ารำคาญ ทำให้มีพัฒนาการที่ช้ากว่าเด็กวัยเดียวกัน

3. ลูกผู้ชายอย่าร้องไห้

ธรรมชาติของเด็กนั้นต้องมีการร้องไห้อยู่แล้ว การร้องไห้เป็นการปลดปล่อยอารมณ์อย่างหนึ่งของเด็ก การบังคับว่าเป็นเด็กผู้ชายอย่าร้องไห้ อาจทำให้เด็กไม่สามารถจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้อย่างถูกต้องและกลายเป็นเด็กเก็บกดได้ เช่น เมื่อเขากลัว หรือเมื่อเขาเจ็บ แต่ถูกสอนมาไม่ให้ร้องไห้ เด็กก็ไม่รู้จะปลดปล่อยอารมณ์เหล่านั้นอย่างไร

ทางที่ดี เมื่อมีเหตุการณ์ที่ทำให้เด็กร้องไห้ เช่น หกล้มแล้วเจ็บมาก หากเด็กอยากร้องไห้ก็ปล่อยให้เขาร้องออกมา เมื่อร้องไห้เสร็จแล้วค่อยสอนเขาว่า เมื่อหกล้มอีกต้องทำอย่างไรที่ไม่ใช่การร้องไห้ เช่น ตั้งสติ ลุกขึ้น แล้วค่อยๆ เดินมาหาพ่อแม่หรือไปหาคุณครูให้ช่วยทำแผลให้ เป็นต้น

4. เงียบไป อย่าพูดมาก

เด็กที่อยู่ในวัยหัดพูด มักจะพูดไม่หยุด พูดไปเรื่อยเปื่อยตามประสาเด็ก การห้ามไม่ให้เด็กพูดหรือถาม ทำให้เด็กมีพัฒนาการด้านการพูดที่ช้าลง เด็กจะไม่กล้าถาม ไม่กล้าพูดคุย ดังนั้น เมื่อเด็กถามอะไร ไม่ควรบอกปัดให้เขาเงียบ แต่ควรตอบดีๆ อย่างมีเหตุผล ไม่ตอบส่งเดช

และถ้าเด็กพูดมากจริงๆ จนทนไม่ไหว ก็ควรบอกด้วยเหตุผลหรือมีข้อต่อรอง เช่น "แม่ขอเวลาคุยโทรศัพท์ 10 นาที ลูกช่วยเงียบหน่อยได้มั๊ยจ๊ะ เดี๋ยวแม่คุยเสร็จแล้วลูกค่อยพูดต่อนะจ๊ะ" การกำหนดเวลาแบบนี้จะทำให้เด็กไม่อึดอัดและรู้ว่าพ่อแม่ยังคงต้องการฟังเขาพูดอยู่ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้เด็กได้อีกด้วย

5. ลูกคนอื่นไม่เห็นดื้ออย่างนี้เลย

การเปรียบเทียบลูกตัวเองกับลูกคนอื่นทำให้เด็กเสียความมั่นใจ เขาอาจเก็บไปคิดมาก รู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ ไม่สามารถทำให้พ่อแม่พอใจได้ กลายเป็นเด็กที่ไม่เชื่อมั่นในตนเอง และเป็นการบ่มเพาะความรู้สึกด้านลบของเด็ก

เขาอาจคิดอิจฉาเด็กคนอื่นที่เราเอาเขาไปเปรียบเทียบและอาจหาโอกาสกลั่นแกล้งเด็กคนนั้น หรืออาจรู้สึกว่าเด็กคนนั้นเป็นคู่แข่งของเขาซึ่งเขาต้องหาทางเอาชนะให้ได้อยู่ตลอดเวลาโดยที่เด็กคนนั้นอาจไม่ได้รู้สึกอะไรแบบนี้เลย การพูดเปรียบเทียบจึงเป็นการทำให้ลูกไม่มีความสุขและอาจกลายเป็นเด็กก้าวร้าวได้

จะเห็นได้ว่าคำพูดเล็กๆ น้อยๆ ที่หลุดปากไป ส่งผลกระทบต่อเด็กมากกว่าที่คิด ดังนั้น คุณพ่อคุณแม่ควรเลี้ยงลูกอย่างมีสติ เลี้ยงด้วยเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์เป็นใหญ่ และคิดก่อนพูดเสมอ ลูกเราจะได้น่ารักสำหรับทุกคนไงล่ะจ๊ะ



บทความแนะนำ


เทรนด์เสื้อผ้าเทคนิคใส่ขาสั้นชีวิตรักคู่รักสเปคผู้หญิงเลือกกางเกงขาสั้นความรักสเปคผู้ชายแฟชั่นกางเกงขาสั้นทรงผมทรงผมสั้นทรงผมประบ่าทรงผมถักเปียดูดวงดวงความรัก