หนังโลกที่เราอยากดู : Videophilia (and Other Viral Syndromes)

อ่าน 6,641

หนังสัญชาติเปรู เจ้าของรางวัลหนังยอดเยี่ยม ?ไทเกอร์อวอร์ด? จากเทศกาลหนังรอดเตอร์ดามปี 2015 ที่ผ่านมาเมื่อต้นปีนี้ (ที่เราพูดถึงอยู่บ่อยครั้ง เพราะเป็นรางวัลเดียวกับที่หนังไทยอย่าง Vanishing Point ของผู้กำกับ จักรวาล นิลธำรงค์ ไปคว้ามาได้) และพึ่งเข้าฉายในเทศกาลภาพยนตร์โลกแห่งกรุงเทพฯ ครั้งที่ 13 ที่ผ่านมาแบบสดๆ ร้อนๆ และได้รับการกล่าวขวัญถึง ?ความเฮี้ยน? ในการทดลองการใช้ภาพและเสียง ชนิดหาดูได้ยากยิ่งในหนังทั่วๆ ไป

?จะว่าไปมันก็คล้ายๆ แฟรงเกนสไตน์น่ะ? ฆวน ดาเนียล เอฟ โมเลโร (Juan Daniel F. Molero)นิยามหนังรางวัลไทเกอร์ของเขาให้เราฟัง เพราะนี่คือหนังที่เปรียบเหมือนสิ่งมีชีวิตทดลองที่ประกอบสร้างจากชิ้นส่วนของสิ่งอื่นมากมายหลายแขนง ไม่ว่าจะเป็นหนังอาวองการ์ด, วิดีโออาร์ต, หนังทดลอง, หนังรัก, หนังโป๊, หนังตลก, หนังโลกแตก, หนังเหนือธรรมชาติ และวัฒนธรรมสายตาอีกมากมายในโลกอินเตอร์เน็ตกับหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่ภาพยนตร์ยังไม่ก้าวเท้าลงไปสำรวจ และยังให้ผลสะเทือนที่ประหลาดล้ำ บทวิจารณ์ชิ้นหนึ่งระบุว่า ?หนังเรื่องนี้ทำงานแบบเดียวกับความอยากรู้อยากเห็นเรื่องเซ็กซ์เพื่อยั่วยวนเรา แต่ก็ทำให้เราหวาดกลัวในแบบเดียวกับตอนที่รู้ตัวว่าจะไม่ได้ปลดปล่อยความอยากนั้นด้วยการถึงจุดสุดยอด?

เด็กสาววัยรุ่นนาม ลุซ ใช้วันแรกๆ ของการเปิดเทอมเตร็ดเตร่อยู่นอกโรงเรียนเพราะความเบื่อหน่าย ก่อนจะวิดีโอแช็ตและนัดเจอกับ จูเนียร์ ไอ้หนุ่มติดเกมเจ้าพ่อเน็ตคาเฟ่ผู้ไม่เพียงมีความฝันจะหาเงินล้านจากการถ่ายหนังโป๊สมัครเล่นด้วยกูเกิลกลาสส์ แต่ยังติดแอลเอสดีขนาดหนัก ลุ่มหลงในทฤษฎีปฏิทินวันสิ้นโลกของเผ่ามายันและใช้หนูตะเภาเป็นเครื่องทดลองพิธีทรงเจ้า ? จะเรียกที่เขียนไปว่าเรื่องย่อก็คงพอได้อยู่หรอก แต่ Videophilia ไม่ได้โดดเด่นด้วยคุณสมบัตินี้แต่อย่างใด ?หนังเรื่องนี้เป็นผลงานขำขื่นว่าด้วยผลลัพธ์สุดท้ายและจุดจบของอนาคต? โมเลโรกล่าว ?เรากระโจนเข้าสู่เทคโนโลยีที่เปิดตัวเราให้กว้างและเชื่อมต่อเรากับคนอื่นอย่างไม่คิดชีวิต ผมเห็นความโกลาหลและปัญญาอ่อนหลายแหล่ที่นำเรามาสู่จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่ ? ทุกอย่างไม่เมคเซนส์อีกต่อไป และแน่นอน บางครั้งมันตลกสิ้นดี?

โมเลโรกวาดทุกสุนทรียะเท่าที่หาพบได้ในโลกที่มนุษย์เกิดมาพร้อมอินเตอร์เน็ตมาใช้ในหนังเรื่องนี้ สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นทุกที่ไม่เว้นกรุงลิม่า ประเทศเปรู ซึ่งมักมีภาพจำต่อชาวโลกในฐานะดินแดนอารยธรรมห้าพันปีมาชูปิคชู (ซึ่งอารยธรรมอินคาเหล่านี้ปรากฏอยู่ในเรื่องด้วยเช่นกัน) เขาบอกว่าจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เปรูหันเข้าหาโลกอินเตอร์เน็ตและดิจิตอลอย่างเต็มตัวคือการลงจากตำแหน่งด้วยวิดีโอเทปอื้อฉาวของประธานาธิบดี อัลแบร์โต ฟูจิโมริ หลังจากใช้การควบคุมสื่อปิดบังการทุจริตของตัวเองมาได้นานนับสิบปี ?ผมอยากแสดงให้เห็นกรุงลิมาบ้านผมแบบอันเซ็นเซอร์ ทั้งการปะทะทางวัฒนธรรม ความบ้าระห่ำเสียสติของผู้คน ความเชื่องมงายฝังหัว ? บ้านผมก็เต็มไปด้วยวัยรุ่นโง่ๆ ที่อยากจะสนุกไปวันๆ เหมือนในหนังฮอลลีวูดนั่นแหละครับ ใช่ว่าจะต้องมีชีวิตแบบหนังเรียลิสม์ตามเทศกาลหนังเสียเมื่อไหร่?

อาจกล่าวได้ว่า บางทีการดูหนังเรื่องนี้บนจอคอมพิวเตอร์น่าจะสร้างแรงสั่นสะเทือนได้ดีที่สุด (แต่การดูในโรงก็คงประหลาดล้ำโลกอย่างยิ่ง) เพราะระหว่างที่หนังเล่าความสัมพันธ์อันตรายดิ่งเหวของลุซกับจูเนียร์ในละแวกชานเมืองเก่าแก่ของเมืองหลวงอยู่นั้น บางครั้งภาพก็กระตุกเหมือนเวลาเราเปิดคลิปแล้วเน็ตช้าจนความละเอียดภาพเสีย เกิดพิกเซลแตกลายงาเหมือนไฟล์เสื่อมคุณภาพหรือหยุดการทำงานไปชั่วขณะ และมีแม้กระทั่งหน้าต่างป๊อปอัพที่บอกว่าตอนนี้หนังเรื่องนี้กำลังถูกมัลแวร์โจมตี หรือโปรแกรมแอนตี้ไวรัสตรวจจับได้ว่ามีไวรัสตัวใหม่ ยังไม่นับความเหวอเพ้อคลั่งของตัวละครที่กำลังเมายาไม่ได้สติจนโลกหมุนพลิกกลับด้าน ซึ่งทะลักออกมาเปรอะหน้าจอของเราอีกคำรบหนึ่ง!

?เราเสพติดความมึนเมา? โมเลโรสรุป ?ไม่ใช่แค่เมาเพราะยา แต่เมาเพราะวัฒนธรรมไวรัลวิดีโอนี่แหละ?



บทความแนะนำ


ศัลยกรรมรสเจ็บก๋วยเตี๋ยวจ.ปทุมธานีความสวยความงามรังสิตนครนายกก๋วยเตี๋ยวเรือปากเจ่อพลอยถูกโฉลกทรงผมทรงผมสั้นทรงผมประบ่าทรงผมถักเปียดูดวงดวงความรัก