วิจารณ์หนัง The Lobster : รักออกแบบไม่ได้

อ่าน 2,398

ในช่วงเวลาที่ผู้คนพากันป่าวประกาศโหยหาคู่ แสดงออกซึ่งสถานะความรักอย่างกระเหี้ยนกระหือรือ ตั้งแต่ข้อความคำคมสั้นๆ ไปจนถึงคลิปวีดีโอทำนอง ?ไม่มีอะไรมากกก บอกรักผัววว? การมาถึงของ The Lobster จึงนับว่าเป็นการถูกที่ถูกเวลาอย่างยิ่ง ผู้กำกับ ยอร์กอส ลานธิมอส (ผลงานลือลั่นชวนเหวอก่อนหน้านี้ของเขาคือ Dogtooth) ได้เนรมิตโลกดิสโทเปียให้เต็มไปด้วยลีลาเย้ยหยัน เสียดสี และตลกอย่างร้ายกาจ จนชวนขำขันปนความขมขื่น

The Lobster ตั้งใจประชดประชันระบบความคิดของผู้คน ที่เป็นเดือดเป็นร้อนเสียเหลือเกินหากตนเองไร้คู่ ผ่านมุมมองกลับหัวกลับหางว่าด้วยโลกที่ทุกคนจำเป็นต้องมีคู่รัก หากทางการพบเห็นใครคนใดเดินคนเดียวเปล่าเปลี่ยวเพราะกำลังโสด จะนับเป็นเรื่องผิดกฎหมายโดยทันที แค่นั้นยังไม่พอ เหล่าคนโสดจะถูกเกณฑ์เข้าไปอยู่รวมในโรงแรมแห่งหนึ่ง โดยลงทะเบียนรสนิยมทางเพศอย่างชัดเจน ใช้ชีวิตทำกิจกรรมตามตารางที่กำหนดให้ และต้องปิ๊งรักตกลงปลงใจ หาคู่ให้ได้ภายใน 45 วัน มิเช่นนั้นจะถูกบังคับให้เข้ากระบวนการเปลี่ยนร่างเป็นสัตว์ชนิดที่เลือกไว้ และปล่อยเข้าป่าลงน้ำไปตามมีตามเกิด

ด้วยกฎดังกล่าว เดวิด (โคลิน ฟาร์เรล) ตาลุงลงพุงเมียทิ้ง จึงถูกเรียกระดมพลขึ้นรถไปยังโรงแรมกับเขาด้วย ในขณะที่หนังรักทั่วๆไป มักพาคนดูไปพบกับภาพชวนฝันของพรหมลิขิต คู่แท้ รักแรกพบ ไปจนถึงการจับผลัดจับผลูต้องจิตเสน่หากันโดยมิได้วางแผนล่วงหน้า โรงแรมแห่ง The Lobster หักขนบโรแมนติกเหล่านั้นเสียป่นปี้ ด้วยการใช้มาตรการสารพัดวิธีเค้นให้เหล่าคนโสดมีความต้องการโหยหาความรักมากขึ้น ด้วยวิธีสุดจะเถรตรงน่าตลกขบขัน อาทิเช่น ละครเวทีสั้นๆ โฆษณาชวนเชื่อว่าการมีคู่มันดีกว่ายังไง ลามไปยันการให้แม่บ้านสาวสวย มาปฏิบัติกิจบางอย่างแบบครึ่งๆกลางๆ ถึงในห้องพัก เพื่อกระตุ้นความต้องการทางเพศจนต้องอยากมีคู่ขึ้นมาบ้าง และที่ตลกร้ายที่สุดคือ กิจกรรมสันทนาการให้คนโสดพกปืนยาสลบไล่ล่ายิงกันเองในป่า เพื่อนับหัวเก็บแต้มต่อเวลาใช้ชีวิตในร่างมนุษย์ให้นานขึ้น ราวกับพรานล่าสัตว์เพื่อแลกเขาหนังและเงินตรา

การบังคับจิตใจและระดับฮอร์โมนโดยไม่สนสิทธิส่วนบุคคลเช่นนี้ นัยหนึ่งก็ทำให้เกิดสภาพเหมือนที่คุก ที่เหล่านักโทษต้องดำเนินชีวิตอยู่ในกรอบของผู้คุม แต่อีกนัยที่เสียดแทงกว่าคือโลกของ The Lobster ได้กลายเป็นฟาร์มผสมพันธุ์สัตว์ โดยทุกๆ กระบวนการของความรัก ล้วนอยู่ในสายตาและความควบคุมของโรงแรมอย่างเป็นขั้นเป็นตอน (โสด-อยู่ห้องเตียงเดี่ยว-จับคู่-ย้ายไปห้องเตียงคู่-ย้ายไปเรือยอร์ช-ย้ายออกไปใช้ชีวิต) จนดูเหมือนว่าคนโสดในอาณัติเหล่านี้ได้กลายเป็นสัตว์ไปแล้ว ตั้งแต่วันแรกที่เหยียบเข้าโรงแรมแห่งนี้ โดยไม่ต้องรอเดียวดายถึง 45 วันเสียด้วยซ้ำไป

แม้การตกลงปลงใจกับใครคนหนึ่งใน The Lobster จะเกิดขึ้นเอง โดยมีโรงแรมเป็นเพียงตัวกระตุ้น นอกจากเดวิดแล้ว การคงอยู่ของตัวละครสมทบมากสีสันอย่าง หนุ่มขากะเผลก ลุงพูดไม่ชัด สาวเลือดกำเดา ป้าบิสกิต ยิ่งเน้นย้ำว่าโลกดิสโทเปียแห่งนี้ ให้คุณค่าของความรักแค่เปลือกนอกได้อย่างน่าสนใจ เมื่อต่างคนต่างมีความคิดว่าการจะตัดสินใจเลือกคู่ชีวิตสักคนนั้น เขา/เธอต้องมีสภาพทางกายภาพบกพร่องแบบเดียวกันทุกกระเบียดนิ้ว โดยเหมารวมทั้งการตัดสินเลือกคนในห้วงอดีต (สามี/ภรรยาเก่า) และคนในอนาคต (หนึ่งในคนโสดของโรงแรม) ดังที่จะเห็นได้จากความพยายามของหนุ่มขากะเผลก (เบน วิชอว์) ที่ยอมเสียสละดั้งจมูกด้วยการโขกกับของแข็งครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อให้ตนได้รับการยอมรับจากสาวเลือดกำเดาให้ได้ทันเวลา ถึงแม้เขาจะมีีอิสระในการเลือกคู่ ได้หัวร่อต่อกระซิกกันในแบบมนุษย์พึงกระทำเป็นปกติวิสัยเพียงใด แต่ก็พยายามทำไปเพื่อหนีจากต้องกลายเป็นสัตว์เพียงเท่านั้น เช่นเดียวกับคู่อื่นๆ อีกหลายหลากที่พบกันในโรงแรม ที่สุดท้ายเมื่อถูกทดสอบถึงความจริงใจที่มีต่อกัน ก็ต้องลงเอยด้วยโศกนาฏกรรมอยู่วันยันค่ำ

เช่นเดียวกับชีวิตหลังรักโรงแรมล่มของเดวิด ที่ทำให้เขาตัดสินใจหนีจากกฎของโรงแรมมาสู่ป่า และได้พบกับสังคมของราชินีแห่งเหล่าคนโสด (เลอา เซย์ดูซ์) ที่ไม่บังคับให้ต้องมีคู่ สามารถผูกมิตรฉันท์เพื่อนกับผู้อื่นได้ แต่ถึงกระนั้น การแสดงออกถึงความรักเชิงชู้สาวระหว่างกัน ก็จะต้องถูกลงโทศอย่างร้ายแรง ความบิดเบี้ยวระหว่างความคิดสุดโต่งสองฝ่ายสองดินแดน ต้องมีและคู่ห้ามโสด-ต้องโสดและห้ามมีคู่ ในโลกของ The Lobster ทำให้ตัวละครเดวิดผู้ที่มีพัฒนาการทางความคิดที่สุดของเรื่อง ถูกโยนออกจากกรอบหนึ่งไปอยู่อีกกรอบหนึ่ง หาได้มีอิสระในความรู้สึกของตนเองเหมือนเช่นเดิม หากเดวิดยึดมั่นในสถานะโดดเดี่ยวของตนเองต่อไป เราก็ไม่อาจแน่ใจได้อีกต่อไปแล้วว่าในบั้นปลายของชีวิตในฐานะมนุษย์ การกลายเป็นสัตว์สักชนิด หรือนอนสิ้นลมหายใจในหลุมที่ลงมือขุดไว้ให้ตนเอง อย่างไหนน่าสมเพชเวทนามากกว่ากัน หรือโดยแท้แล้วการตกลงหาคู่ให้ได้ เพื่อใช้ชีวิตในเมืองต่อไปจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด อาจเป็นโชคร้ายของชาวโลกดิสโทเปียที่ต้องเผชิญกับเรื่องพรรณ์นี้ แต่เป็นโชคดีของคนดู เพราะประเด็นชวนครุ่นคิดที่เหล่าคนโสดต้องแบกไว้บนบ่านี้ ล้วนถูกถ่ายทอดอย่างเปี่ยมชั้นเชิง ทีเล่นทีจริง และชวนหัวเราะอยู่ไม่ใช่น้อย

การที่พระเจ้าของเรื่องอย่าง ยอร์กอส ลานธิมอส ประทานสาวสายตาสั้น (ราเชล ไวสซ์) เข้ามาในโลกของ The Lobster ในช่วงครึ่งหลัง นับเป็นตัวแปรสำคัญของตาลุงเดวิดผู้แห้งเหี่ยวได้กระชุ่มกระชวยหัวใจ และย้อมโทนของหนังให้เจือกลิ่นอายโรแมนติกระเรื่อขึ้นมาบ้าง ไม่เพียงตัวละครสมทบอย่างหนุ่มขากะเผลกเท่านั้น ที่หลงวนเวียนอยู๋กับคติความเชื่อเรื่องความเหมือนกันทางกายของคู่รัก เดวิดที่พยายามหนีจากสิ่งนั้น สุดท้ายเขาก็มาหลงรักสาวที่มีปัญหาสายตาเหมือนตนเองอยู่ดี เพียงแต่ในกรณีของเดวิดนั้น เขาหลุดรอดจากวังวนการบังคับรักราวจับสัตว์ผสมพันธุ์มาได้แล้ว การคิดค้นและพูดคุยผ่านรหัสลับ ทั้งในทำนองกุ๊กกิ๊กน่ารักยันเรื่องสัปดน เป็นตัวกลางเชื่อมสัมพันธ์ทางใจทั้งสองฝ่ายอย่างลับๆ โดยหลบเลี่ยงจากสายตาของท่านราชินี แต่เมื่อทั้งสองต้องเป็นสมาชิกทีมคู่รักปลอมพร้อมราชินีเพื่อเข้าเมือง ลานธิมอส ก็ไม่วายหยอกล้อแรงๆ กับคนดูอีกครั้ง ด้วยบรรยากาศเปรียบเทียบของป่าและเมือง ที่เต็มไปด้วยสถานการณ์ชวนมึนตึ้บ เหนือจริง และหลุดพ้นตรรกะโลกที่เราคุ้นเคยไปเสียสิ้น เมื่อเดวิดพฤติกรรมแสดงออกถึงความรักอย่างโจ้งแจ้ง เรื่องราวก็นำไปสู่จุดพลิกผันครั้งใหญ่ และเน้นย้ำพร้อมตั้งคำถามกับคนดูทิ้งท้ายไว้ว่า การที่คนสองคนจะมาเป็นคู่กันได้นั้น เราต้องเหมือนกันเพียงใด และแท้จริงแล้วความรักของมนุษย์ ต้องติดอยู่ในกรอบที่มีการออกแบบไว้ขนาดนั้นเลยหรืออย่างไร

เป็นดังที่ชื่อหนังว่าไว้ The Lobster อาจดูเป็นกุ้งตัวใหญ่ยักษ์ราคาแพงลิบลิ่ว ที่ถูกเสิร์ฟมาบนจานหรูหราประทับตรารางวัลเมืองคานส์ แต่อย่าพึ่งหวาดกลัวอาหารจานแพงนี้ไป กุ้งตัวนี้ถูกผู้กำกับ ยอร์กอส ลานธิมอส ปรุงมาอย่างพอดี เลิศรสชวนดื่มด่ำ และมากไปด้วยคุณค่าสารอาหารทางภาพยนตร์ ในแบบที่คู่ควรแก่การรับประทานให้เอร็ดอร่อยได้ โดยไม่ต้องปีนไกลไปละเลียดบนหิ้งแต่อย่างใด



บทความแนะนำ


เร่งการเจริญเติบโตสอนแต่งหน้าแต่งหน้าเต้านมความวุ่นวายsingleห่างไม่ไกลไก่ทอดทรงผมทรงผมสั้นทรงผมประบ่าทรงผมถักเปียดูดวงดวงความรัก