วิจารณ์หนัง "In the Heart of the Sea : ราคาของมนุษย์"

อ่าน 11,215

ก่อนจะว่ากันในประเด็นอื่นใด ขอชื่นชม In the Heart of the Sea ว่าสามารถใช้ประโยชน์จากภาพอลังการงานสร้าง ระบบการฉายแบบสามมิติ และจอยักษ์ไอแม็กซ์ได้อย่างเต็มภาคภูมิ ถึงแม้จะไม่ได้มีความหมายลึกซึ้งในทุกๆ ฉากที่ปรากฏแก่สายตา แต่ยุทธการมนุษย์ล่าวาฬกลางมหาสมุทรเรื่องนี้ คู่ควรอย่างยิ่งแก่การรับชมในโรงภาพยนตร์

ถึงไม่ใช่คอวรรณกรรมตัวกลั่น ต้องมีสักครั้งในชีวิตที่เคยได้ยินชื่อเสียงของตำนานนิยาย ?โมบี้ ดิก? ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์จริงในปี 1820 เมื่อเรือล่าวาฬเอสเซกซ์ อับปางกลางทะเลด้วยฝีมือของวาฬยักษ์ จนเหลือผู้รอดชีวิตเพียงไม่กี่คน ผู้กำกับ รอน ฮาวเวิร์ด ได้หยิบยกวิกฤตการณ์ครั้งนั้น มาบอกเล่าใหม่ด้วยลีลาเร้าอารมณ์ แฝงปรัชญาชวนคิดหลายหลากตามแต่จะคนดูจะสามารถหยิบจับกลับไปได้ใน In the Heart of the Sea โดยพาย้อนอดีตผ่านคำบอกเล่าเคล้าอาการกลั้นน้ำตาของลูกเรือที่เหลือรอดอย่าง โทมัส นิกเคอร์สัน ในวัยชรา (เบรนแดน กลีสัน) และมี เฮอร์แมน เมล์วิลล์ (เบน วิชอว์) เป็นผู้จดบันทึก ก่อนจะกลายเป็นนวนิยายเรื่องดังกล่าว

ภาพการสัมภาษณ์และจดบันทึกนี้ ถูกแทรกสลับกับเหตุการณ์ในอดีตอยู่ตลอดเรื่อง ราวกับเป็นการคารวะถึงต้นกำเนิดของนวนิยายว่า เรื่องแต่งอันโด่งดังนี้มีที่มาจากเรื่องจริง ที่ต้องผ่านบททดสอบของชีวิตทั้งโหดร้ายและน่าอัศจรรย์มากมายเพียงไร แต่นี่เป็นเพียงประเด็นเสริมในทำนองบูชาครูเท่านั้น เพราะในเส้นเรื่องหลัก นิกเคอร์สัน เป็นเพียงเด็กรับใช้วัยกระเตาะในเรือเท่านั้น เขามีหน้าที่ปฏิบัติตามคำสั่งของกัปตันและต้นหน แกนหลักของ In the Heart of the Sea พาคนดูไปสำรวจความแข็งแกร่งของจิตวิญญาณมนุษย์ โดยมีวาฬยักษ์ ระบบทุนนิยม และชีวิตที่ห้อยต่องแต่งอยู่บนขอบเหวของความเป็นความตายมาช่วยขับเน้นได้อย่างออกรส

ตั้งแต่แรกเริ่มที่คนดูได้รู้จัก โอเวน เชส (คริส เฮมส์เวิร์ธ) ต้นหนเรือล่าวาฬฝีมือดี แต่บุญไม่พาวาสนาไม่ส่ง เสียตำแหน่งกัปตันเรือเอสเซกซ์ให้กับ จอร์จ พอลลาร์ด (เบนจามิน วอล์คเกอร์) ทายาทตระกูลใหญ่ทว่าไร้ประสบการณ์ไปเสียฉิบ การออกทะเลในครึ่งแรกของหนัง จึงเต็มไปด้วยการข่มกันไปมา คำพูดดูถูกเหยียดหยาม อุดมด้วยบรรยากาศมาคุอยู่เนืองๆ หายนะที่บังเกิดขึ้นจากความดื้อดึงของพอลลาร์ดที่เหมือนเด็กเอาแต่ใจ หากไม่ได้ประสบการณ์ชีวิตของเชสช่วยไว้ เหล่าลูกเรือก็อาจจะต้องไปพบความตายกันยกโขยง หนังวิพากษ์ระบอบชนชั้นผ่านความรู้สึกนึกคิดและการกระทำของตัวละครทั้งสอง สิ่งเดียวที่เชื่อมโยงจุดแตกหักนี้ไว้ เห็นจะเป็นความละโมบและหิวกระหายยศฐาบรรดาศักดิ์ที่ทั้งคู่มีร่วมกัน โดยมีมีเดิมพันจากผลผลิตไขวาฬที่ต้องเก็บเกี่ยวกลับไป เพื่อเป็นพลังงานให้แสงสว่างแก่ชุมชนมนุษย์ โดยแลกมาด้วยชีวิตของบรรดาวาฬที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อะไรกับธุรกิจของมนุษย์ทั้งสิ้น

ภาพยุทธการล่าวาฬ และการมาถึงของฉาก ?น้ำพุเลือด? ท่ามกลางเสียงโห่ร้องยินดีของมนุษย์ สามารถยืนยันชัดเจนถึงเจตนาของ In the Heart of the Sea ว่ามีน้ำเสียงเช่นไรต่อกระบวนการล่าวัตถุดิบดังกล่าว ความโหดร้ายคลุ้งคาวเลือดตรงหน้าถูกโหมประโคมขึ้นราวกับงานฉลองครึกครื้น จนอาจทำเอาชาวสมาคมคนรักสัตว์โลกถึงกับหัวเสีย แต่ธรรมชาติของโลกใบนี้ ย่อมมีวิธีรักษาสมดุลของมันเสมอ วาฬยักษ์จึงถูกส่งมาบดขยี้เรือเอสเซกซ์ อาวุธร้าย และความทะเยอทะยานของมนุษย์ให้ราบเป็นหน้ากลอง อีกทั้งมันยังมีเชาว์สติปัญญา ความคิดจิตใจที่เกินกว่าเพื่อนร่วมสปีชีส์จะมีได้ ราวกับเป็นการส่งตรงจากพระเจ้า (ไม่ก็ซาตาน) หนังทำให้วาฬยักษ์มีสถานะมากกว่าเป็นสัตว์ธรรมดาตัวหนึ่ง แต่เป็นตัวละครที่นำมาซึ่งจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของเรื่อง และเป็นค้อนอันมหึมา ที่กะเทาะเปลือกยศฐาและทิฐิของเผ่าพันธุ์ที่คิดว่าตนสูงส่งออกเสียจนเกือบสิ้น

หลังหายนะเรือเอสเซกซ์บังเกิดขึ้น ทำให้มหกรรมความหรรษาล่าชีวิตวาฬของ In the Heart of the Sea กลับกลายเป็นความหมองหม่น และโยนบททดสอบข้อแล้วข้อเล่าให้ลูกเรือต้องก้าวข้าม หากครึ่งเรื่องแรกเป็นหนังแอ็คชั่นผจญภัยที่ดูสนุกตื่นเต้น ครึ่งหลังคงเป็นดราม่าว่าด้วยการยื้อชีวิตเพื่อต่อเวลากับมัจจุราช เมื่อเวลาผ่านไประบบความคิดของกัปตันและต้นหน ก็ค่อยๆ เปลี่ยนและละลายการยึดมั่นถือมั่นออกไปทีละน้อย จนเหลือเพียงสัญชาตญาณเอาตัวรอด มองข้ามศีลธรรมจรรยาไม่ต่างจากสัตว์หิวโหย และได้สำเหนียกเสียว่าตนเองมีขนาดและคุณค่าของชีวิตเพียงใดกันแน่ ไม่ว่าจะเทียบกับวาฬที่ถูกคร่าชีวิตไป วาฬยักษ์เพชฌฆาต หรือแม้แต่ผืนน้ำมหาสมุทรกว้างไกล ที่หนังจงใจใส่ภาพกว้างมาให้เราเห็นหลายต่อหลายครั้งอย่างมีนัยยะ จนเราได้เห็นภาวะยอมจำนนของมนุษย์ ที่ยอมศิโรราบต่อพลังที่กราดเกรี้ยว และเลือกทางใครทางมันในที่สุด

แม้วาฬยักษ์อาจดูเป็นภัยพิบัติอันโหดร้ายที่สุดในเรื่อง แต่ In the Heart of the Sea ก็จัดแจงบดขยี้ความเป็นมนุษย์ของผู้เหลือรอดหลังผ่านเหตุการณ์ทั้งหมดนั้นมาซ้ำอีก แสดงความย้อนแยงที่น่าสลดสิ้นดี เมื่อสุดท้ายแล้วอำนาจของเงินตราและระบบธุรกิจก็เป็นสิ่งทรงอำนาจอันไม่อาจหลีกเลี่ยง ในโลกของสัตว์ประเสริฐนี้ กำไรขาดทุนดูจะเป็นของที่พึงให้คุณค่า ตีราคาได้มากกว่าการแตกสลายจิตใจของมนุษย์ ชีวิตสรรพสัตว์เดรัจฉานใดๆ หรือแม้แต่ความเป็นจริงอันโหดร้ายก็ตาม

ถึงตอนนี้ปี 2015 การล่าวาฬจะถูกต่อต้านอย่างหนักและลดจำนวนลง ผู้คนหาแหล่งพลังงานอื่นๆ ได้มากมายแล้ว แต่อำนาจแห่งทุนนิยมก็ยังครอบงำ และหลอมรวมไปกับสังคมมนุษย์โลกใบนี้อย่างแยกขาดจากกันมิได้ หรือแท้จริงแล้ว เราอาจต้องการวาฬยักษ์ในรูปแบบอื่นใด มาเตือนสติกันดูสักที



บทความแนะนำ


ฟุตบอลรถไฟฟ้าบีทีเอสเตือนภัยข่าวบอลคอนเสิร์ตมอส-แคท-ไชน่าดอลแก๊งมิจฉาชีพทรงผมทรงผมสั้นทรงผมประบ่าทรงผมถักเปียดูดวงดวงความรัก