เจ้าของร้านชาบู ร่ำไห้ สู้กับโควิด 19 ไม่ไหวแล้ว ร้านกำลังจะต้องปิดตัว

อ่าน 8,450

เจ้าของร้านชาบู ร่ำไห้ สู้กับโควิด 19 ไม่ไหวแล้ว ร้านกำลังจะต้องปิดตัว

เจ้าของร้านชาบู ไลฟ์ร่ำไห้ทั้งน้ำตา สู้กับโควิด 19 ไม่ไหวแล้ว ร้านกำลังจะต้องปิดตัว จี้ รัฐบาลช่วยเหลือหน่อย รอวัคซีนโควิด 19 อย่างมีความหวัง แต่ปีนี้ก็ไม่รู้จะฉีดได้หมดเปล่า

ช่วงกลางปี 2563 ในช่วงการระบาดของโควิด 19 หากใครจำได้ จะมีร้านอาหารร้านหนึ่ง ชื่อว่า โกดังชาบู ออกมาประกาศว่า ยังไงก็ไม่ขอปิดร้าน แม้รัฐบาลสั่งล็อกดาวน์ เพราะถ้าปิดร้านจะได้รับผลกระทบแน่นอน แถมรัฐบาลก็ไม่ยอมช่วยอะไร ขณะเดียวกัน เมื่อมีการระบาดระลอก 2 ทางร้านก็ไม่ปิดจริง บอกว่า ตายทั้งขึ้นทั้งร่อง

ล่าสุด วันที่ 16 มิถุนายน 2564 เจ้าของร้านโกดังชาบู มีการออกมาไลฟ์ทั้งน้ำตาถึงสถานการณ์ร้าน ในช่วงการระบาดโควิด-19 รอบล่าสุดซึ่งหนักหนาสาหัส มีผู้ติดเชื้อหลักพันมาติดต่อกันหลายเดือนแล้ว โดยฝากข้อความถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐบาล ดังนี้

ความในใจจากแม่ค้าติดดินคนหนึ่ง ณ ตอนนี้ ผ่านไป 3 เดือน เรามีปัญหาที่ต้องแก้ไขกับปัญหาที่เวลาเราเสียไปปีกว่า มันคงสายเกินไปแล้วที่จะก้าวต่อ พยายามต่อสู้อดทนแล้ว แต่ก็สายเกินไปที่จะแก้ไข มันคงหมดเวลาของโกดังชาบูแล้วจริง ๆ ขอโทษที่ดราม่า แต่ร้านคงจะอยู่ถึงเดือนกันยายนนี้เท่านั้น หากแบกภาระไม่ไหวจริง ๆ มีหนี้ค่าเช่าที่ประมาณ 1.7 แสนบาทที่ค้างไว้เป็นปี รวมหนี้อื่น ๆ ก็ทำให้ยอดรวมอยู่ที่ 4 แสนบาท

อนาคตเคยหวังว่า วันหนึ่งร้านเราจะกลับมาคึกคัก พยายามยื้อเอาไว้ เผื่อเจอวันดี ๆ แต่มันคงไปต่อไม่ไหวแล้ว ไม่มีเงินจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าที่ รถกำลังจะถูกยึด ตื่นเช้ามาก็มีแต่ข้อความทวงหนี้ ได้แต่ขอโทษเพื่อนที่เป็นคนค้ำประกันให้ จะรีบหาเงินมาใช้หนี้ให้ไวที่สุด สถานการณ์ตอนนี้ต่อให้เปิดร้านตลอด 24 ชั่วโมงก็สู้ไม่ไหว

นอกจากนี้ เจ้าของร้าน กล่าวอีกว่า ต่อสู้เพื่อให้มีร้านมา แต่พอเจอโควิด 19 กลับเดี๋ยวสั่งให้เปิด เดี๋ยวสั่งให้ปิด ผลุบ ๆ โผล่ ๆ เหมือนปลาได้น้ำนิด ๆ หน่อย ๆ แต่ยิ่งสู้ยิ่งเหนื่อย ไม่รู้ว่ามีอีกกี่ร้านที่จะเจอสภาพแบบนี้ เวลาเห็นร้านอื่น ๆ ปิดตัว ก็นึกถึงตัวเองว่าจะเจอแบบนี้หรือเปล่า ร้านก็ต่อสู้มาตลอด รอวัคซีนโควิด ไม่รู้ปีนี้จะจบไหม อยากให้รัฐบาลช่วยเหลือร้านค้าเล็ก ๆ หน่อย อยากให้คนเข้าใจ ไม่อยากให้ถึงวันปิดร้าน มันทำใจไม่ได้ แต่ก็ต้องยอมรับ ยอมแพ้แล้ว เงินกู้จากสถาบันการเงินต่าง ๆ ก็กู้มาแล้วตั้งแต่รอบแรก แต่สถานการณ์ก็ไม่ดีขึ้น และซ้ำร้ายกว่าเดิมที่พอถึงกำหนดชำระก็ไม่มีให้ ทำให้เจ้าหนี้ไปทวงหนี้กับเพื่อนที่ค้ำ

"หนูสู้จนไม่รู้จะสู้อย่างไรแล้ว (ร้องไห้) หนูอดทนเป็นปีกว่าที่ผ่านมา แต่คงสายเกินไปที่จะแก้ไขอะไรแล้ว หนูคงไม่มีปัญญาที่จะยื้อร้านไว้ได้ หนูอยากให้มันจบแค่ร้านหนู"

"หนูอยากให้ท่านช่วยคนที่เหลือ ร้านค้าที่เหลือ คนที่เขาตกงาน คนที่เขากำลังดิ้นรนอยู่ อยากให้เขาพลิกแพลงใหม่ได้ไหม ปรับเปลี่ยนเถอะ ถึงแม้เป็นเสียงเล็ก ๆ เป็นร้านเล็ก ๆ คน ๆ หนึ่ง แต่อยากให้เขารู้สึกถึงหัวใจคนบ้าง"



บทความแนะนำ