หนุ่มๆอ่านด่วน! ผู้ชายก็อาจเป็นมะเร็งเต้านมได้นะ

อ่าน 11,379

หนุ่มๆอ่านด่วน! ผู้ชายก็อาจเป็นมะเร็งเต้านมได้นะ

ความผิดปกติของเต้านมใช่ว่าจะเกิดได้เฉพาะในเพศหญิง ในเพศชายก็เกิดความผิดปกติได้เช่นกัน!

เต้านมเป็นอวัยวะแสดงเอกลักษณ์ของเพศหญิง เป็นอวัยวะที่มีหน้าที่ผลิตน้ำนมเพื่อใช้เลี้ยงดูลูก ในขณะที่เต้านมไม่มีหน้าที่พิเศษอันใดสำหรับเพศชาย ธรรมชาติจึงให้ผู้ชายมีหน้าอกแบนราบ แต่ในผู้ชายบางรายอาจมีเต้านมนูนหรือมีเนื้อมากกว่าผู้ชายทั่วไป ทำให้เกิดความคับข้องใจว่าทำไมเราไม่เหมือนคนอื่นๆ หรืออาจก่อให้เกิดความวิตกกังวลว่าจะเป็นโรคร้ายหรือเป็นมะเร็งเต้านม ในบทความนี้จึงขอเล่าถึงภาวะเต้านมโตในผู้ชายว่ามีสาเหตุมาจากอะไร และมีแนวทางในการดูแลรักษาอย่างไร

เมื่อผู้ชายมีเต้านมใหญ่ขึ้น ซึ่งอาจเป็นข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้าง จำเป็นต้องตรวจเต้านมอย่างละเอียดเพื่อวินิจฉัยแยกโรค แบ่งได้เป็น 3 กลุ่มดังนี้1. เต้านมโตจากไขมันบริเวณใต้หัวนมเพิ่มขึ้น โดยไม่ได้มีเนื้อเต้านมเพิ่มมากขึ้น (pseudogynecomastia)2. เต้านมโตจากภาวะที่มีเนื้อเต้านมเพิ่มขึ้น (gynecomastia)3. มะเร็งเต้านม

เต้านมโตจากไขมัน

เกิดเนื่องจากมีเนื้อไขมันเพิ่มมากขึ้น อาจสังเกตได้ว่าผู้ชายอ้วนส่วนใหญ่มีเต้านมโตกว่าผู้ชายผอม กรณีนี้ไม่ต้องทำอะไร ไม่มีอันตราย ถ้าผอมลงเต้านมจะเล็กลงได้เอง

เต้านมโตจากเนื้อเต้านม

ในภาวะนี้ร่างกายมีการสร้างเนื้อเต้านมเหมือนในเต้านมผู้หญิง ลักษณะอาการมี 2 แบบ คือ

กลุ่มที่ 1 เต้านมโตเฉยๆ ไม่เจ็บ กลุ่มนี้มักไม่สังเกตว่าตนเองมีเต้านมโต มักเป็นมานานเป็นปีกว่าจะทราบ หรือบางครั้งแพทย์ผู้ตรวจร่างกายประจำปีเป็นผู้ตรวจพบ ซึ่งมักเป็นชายสูงอายุ

กลุ่มที่ 2 จะเป็นกลุ่มที่มีเต้านมโตร่วมกับมีอาการปวดหรือกดเจ็บ และเนื่องจากเต้านมจะโตขึ้นเร็วจึงทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักรีบมาพบแพทย์

การตรวจร่างกายอาจช่วยแยกระหว่างเต้านมโตจากไขมันกับเต้านมโตจากเนื้อเต้านม ถ้าเป็นจากไขมันจะคลำได้เป็นเนื้อไขมันนิ่มๆ ไม่มีลักษณะนูน แต่ถ้าเต้านมโตจากเนื้อเต้านมจะสามารถใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้คีบเนื้อเต้านมใต้หัวนมได้เป็นแผ่นนูน

สาเหตุการเกิดเต้านมโตจากเนื้อเต้านมมาจากความไม่สมดุลระหว่างการออกฤทธิ์ของฮอร์โมนเพศหญิงชนิดเอสโตรเจน (estrogen) กับฮอร์โมนเพศชายที่เนื้อเยื่อเต้านม ซึ่งความไม่สมดุลนี้อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงของช่วงอายุ เช่น ในเด็กชายเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นช่วงอายุประมาณ 13-14 ปี อัณฑะจะผลิตฮอร์โมนเพศหญิงชนิดเอสโตรเจน ในปริมาณค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับฮอร์โมนเพศชายที่เรียกว่าเทสโทสเตอโรน (testosterone) ดังนั้นเด็กวัยรุ่นชายจึงมีโอกาสพบเต้านมโตได้บ่อย แต่ไม่ต้องกังวลเพราะภาวะนี้จะเป็นชั่วคราว มักเป็นอยู่ประมาณ 6 เดือนแล้วค่อยๆ หายไป

สำหรับช่วงอายุอื่นๆ มีโรคหรือภาวะอีกหลายชนิดที่ทำให้เกิดเต้านมโตจากเนื้อเต้านม ซึ่งเกิดจากกลไกดังนี้

- ระดับฮอร์โมนเพศหญิงเพิ่มมากขึ้นในผู้ชาย เช่น เกิดจากเนื้องอกบางชนิดที่อัณฑะ มะเร็งบางชนิด ได้แก่ มะเร็งที่มีต้นกำเนิดจากเซลล์สืบพันธุ์ (germ cell origin) มะเร็งปอดบางชนิด มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งไต เนื้องอกที่ต่อมหมวกไต มะเร็งหรือเนื้องอกเหล่านี้สามารถเพิ่มการสร้างฮอร์โมนเพศหญิง ทำให้ร่างกายมีฮอร์โมนเพศหญิงเกิน

- ระดับฮอร์โมนเพศชายเทสโทสเตอโรนลดลง อัณฑะเป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนเพศชาย บางภาวะอัณฑะมีความสามารถผลิตฮอร์โมนได้น้อยลง เช่น อายุมากขึ้น จะสังเกตได้ว่าภาวะเต้านมโตพบในชายสูงอายุได้มากกว่าชายหนุ่ม นอกจากนี้ยาเคมีบำบัดบางชนิดมีฤทธิ์ทำลายเซลล์ในอัณฑะ ทำให้อัณฑะผลิตฮอร์โมนเพศชายได้น้อยลง

- ยาบางชนิด เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาหม้อ ยาลูกกลอน (ซึ่งยา 2 อย่างหลังนี้มักมีสเตียรอยด์เป็นส่วนผสม) ยาขับปัสสาวะชื่อ spironolactone ยารักษาโรคกระเพาะชื่อ cimetidine ยาต้านไวรัสเอดส์ ยาเคมีบำบัด ยาต้านฮอร์โมนเพศชายที่ใช้ในการรักษามะเร็งต่อมลูกหมาก เป็นต้น ในกรณีที่ภาวะเต้านมโตเกิดจากยา การหยุดยาจะทำให้เนื้อเต้านมเล็กลงและอาการเจ็บลดลง ซึ่งมักจะดีขึ้นภายใน 1 เดือน อย่างไรก็ตามถ้าพบภาวะเต้านมโตมานานเกิน 1 ปี ถึงแม้หยุดยาอาการอาจไม่ดีขึ้นมากนัก เนื่องจากเต้านมบางส่วนกลายเป็นพังผืดซึ่งจะไม่หาย

มะเร็งเต้านมในผู้ชาย

ผู้ชายก็มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้ แต่พบน้อยกว่าผู้หญิงมาก โดยผู้หญิงเป็นมะเร็งเต้านม 100 คน จะพบผู้ชายเป็นมะเร็งเต้านมได้ 1 คน มะเร็งเต้านมมักจะเป็นข้างเดียว โดยจะคลำได้เป็นก้อนแข็งและมักติดอยู่กับที่ มะเร็งเต้านมในผู้ชายตรวจพบได้ง่าย เพราะหน้าอกแบนราบไม่มีเนื้อเต้านมมากเท่าเพศหญิง จึงสามารถคลำได้เป็นก้อนชัด แต่การที่ผู้ชายไม่มีเนื้อเต้านม การดำเนินโรคจึงเป็นไปอย่างรวดเร็วกว่าผู้หญิง มะเร็งสามารถลุกลามเข้าผนังหน้าอกได้เร็วกว่า ทำให้บางครั้งต้องได้รับยาเคมีบำบัดหรืออาจร่วมกับการฉายแสงก่อนจึงจะสามารถผ่าตัดได้ นอกจากก้อนแข็งแล้ว ยังอาจพบลักษณะร่วมอย่างอื่น เช่น มีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังหรือหัวนม ได้แก่ ผิวหนังบุ๋ม หัวนมบุ๋ม มีน้ำหรือเลือดออกจากหัวนม ถ้าพบลักษณะดังกล่าวอย่านิ่งนอนใจ ควรรีบพบแพทย์myomu

กล่าวโดยสรุป ภาวะเต้านมโตถ้าเป็นทั้ง 2 ข้าง ซึ่งอาจเป็นมากน้อยไม่เท่ากันระหว่างเต้านม 2 ข้าง โดยทั่วไปเกิดจากเต้านมมีเนื้อเต้านมมากเกินไป ถ้าเป็นในช่วงวัยรุ่นหรือวัยสูงอายุไม่ต้องทำอะไร แต่ถ้าเป็นในช่วงอายุอื่นหรือมีอาการมาก จำเป็นต้องสืบค้นหาสาเหตุเพื่อให้การรักษาตามสาเหตุต่อไป ส่วนมะเร็งเต้านมมักเป็นข้างเดียว คลำได้เป็นก้อนแข็งและก้อนมีขนาดโตขึ้น

อย่างไรก็ตามถ้าคุณผู้ชายท่านใดมีอาการผิดปกติที่เต้านม เพื่อความสบายใจ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องต่อไป

เครดิต: healthtoday.net



บทความแนะนำ


โปรโมชั่นภาพยนตร์เดธโน้ตข่าวดาราวันนี้ข่าวบันเทิงวันนี่้ดาราผิวสีสเวนเซ่นส์ทรงผมทรงผมสั้นทรงผมประบ่าทรงผมถักเปียดูดวงดวงความรัก