แพทย์ ยัน แกว่งแขนถูกวิธี 30 นาทีต่อวันไม่เป็นอันตราย แถมช่วยลดพุง-ลดโรคได้!!

อ่าน 13,107

แพทย์ ยัน แกว่งแขนถูกวิธี 30 นาทีต่อวันไม่เป็นอันตราย แถมช่วยลดพุง-ลดโรคได้!!

หลังมีกระแสแชร์ข้อมูลเตือนการแกว่งแขนออกกำลังกายว่า ไม่ดีต่อกล้ามเนื้อบ่าไหล่ อาจทำให้กล้ามเนื้อฉีกขาด มีผลกระทบถึงกระดูกและเส้นเลือด โดยเฉพาะผู้สูงอายุไม่ควรทำ เพราะเป็นสาเหตุให้เจ็บป่วย ซึ่งระยะสั้นจะยังไม่เห็นอาการ แต่ถ้าทำติดต่อนานๆ จะมีผลเสียมากขึ้น

รศ.นพ.ปัญญา ไข่มุก คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกระดูก ข้อ และวิทยาศาสตร์การกีฬา กล่าวว่า สสส. รณรงค์เรื่องการแกว่งแขน ผ่านแคมเปญ ลดพุง-ลดโรค มาตั้งปี 2556 โดยมีผู้สนใจนำวิธีการนี้ไปใช้ออกกำลังกายเป็นจำนวนมาก

การแกว่งแขนถือเป็นศาสตร์ที่มีองค์ความรู้ถ่ายทอดมานานหลายร้อยปี เป็นกิจกรรมทางกายอย่างง่ายที่เหมาะสมกับทุกเพศทุกวัย แต่ต้องมีการปฏิบัติอย่างถูกวิธีจึงจะได้ประโยชน์และไม่ก่อให้เกิดอันตรายหรือบาดเจ็บ

จากการวิจัยพบว่า การแกว่งแขนสามารถเผาผลาญได้ถึง 230 แคลอรีต่อชั่วโมง ซึ่งใกล้เคียงกับเดินและไม่เกิดผลเสียใดๆ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว หลักการแกว่งแขนที่ถูกต้องคือ แกว่งแขนให้ถูกวิธีต่อเนื่องสะสมอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน จะช่วยพัฒนาระบบไหลเวียนโลหิตของร่างกาย ทำให้สุขภาพแข็งแรง หรือแกว่งแขนสะสมครั้งละ 10 นาที รวม 30 นาทีต่อวัน เป็นประจำทุกวันสม่ำเสมอ ควบคู่กับการควบคุมอาหาร จะช่วยให้สามารถลดพุง-ลดโรคได้สำเร็จ

ทั้งนี้ พอบอกแกว่งแขนลดพุง ลดโรค หลายคนอยากให้เกิดผลทันตา เลยทำแรงๆ แกว่งแขน กระชากกล้ามเนื้อแขน หวังเผาผลาญไขมันให้ได้มากๆ จนอาจเกิดอาการบาดเจ็บที่เส้นเอ็นของไหล่ได้ ขณะเดียวกัน การอักเสบที่หัวไหล่หรือบ่า ถือเป็นโรคฮิตที่มีผู้มารับการรักษาจากแพทย์เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้อายุ 40 ปีขึ้นไป เนื่องจากร่างกายมีความเสื่อมโทรมตามเวลา มีการใช้งานกล้ามเนื้อบริเวณดังกล่าวหนักเกินไป ดังนั้น ปัญหาการเจ็บไหล่จึงมักจะมาจากสาเหตุอื่นๆ ไม่ได้เกิดจากการแกว่งแขน หรือกรณีที่มีอาการบาดเจ็บอยู่แล้วพอมาแกว่งแขนด้วยท่าทางผิดๆ หรือทำแรงๆ ก็ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บตามมาได้

ส่วนรูปแบบการแกว่งแขนผิดวิธีที่พบบ่อยมี 3 ประเภท คือ 1.แกว่งแขนแรงเกินไป 2.คว่ำหรือหงายมือ ไม่ปล่อยมือทั้งสองข้างลงตามธรรมชาติ 3.แกว่งแขนพร้อมกับย่อเข่าและมีการขย่มตัวขึ้นลงเบาๆ ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บของข้อเข่าได้

ขอย้ำว่าการบริหารร่างกายด้วยการแกว่งแขนเป็นกิจกรรมที่ปฏิบัติได้ง่าย ทำได้ทุกสถานที่ สะดวก ปลอดภัย โดยไม่ก่อให้เกิดการบาดเจ็บแก่ร่างกาย หากปฏิบัติอย่างถูกวิธี แต่หากปฏิบัติไม่ถูกต้อง ก็จะมีผลเช่นเดียวกับการออกกำลังกายทุกประเภท คือทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้เช่นกัน

สำหรับการแกว่งแขนที่ถูกวิธีทำได้ง่ายๆ โดยการยืนตรง งอเข่าเล็กน้อยเพื่อการทรงตัว เท้าสองข้างแยกออกจากกัน ให้มีระยะห่างเท่ากับหัวไหล่ ปล่อยมือทั้งสองข้างลงตามธรรมชาติไม่คว่ำหรือหงายมือ จากนั้นแกว่งแขนเบาๆ เหมือนลูกตุ้มนาฬิกา เมื่อแกว่งไปข้างหน้าจะรู้สึกลำตัวเซไปข้างหน้าเล็กน้อย ใช้ฝ่าเท้ารับน้ำหนักถ่ายน้ำหนักไปที่ปลายเท้า เพื่อสร้างสมดุลกับลำตัวที่เซไปข้างหน้า เมื่อแกว่งไปข้างหลังก็ถ่ายน้ำหนักมาที่ส้นเท้าเพื่อสมดุลกับน้ำหนักลำตัวที่เซไปข้างหลัง ซึ่งการเซไปข้างหน้าและหลังนั้น เป็นผลจากการแกว่งแขนนั่นเอง

ดังนั้น การแกว่งแขนจะเหมือนกับการออกกำลังกายโดยการเดิน เพียงแต่การเดินร่างกายมีการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าแกว่งแขนสลับซ้ายขวา ส่วนการแกว่งแขนนั้นร่างกายอยู่กับที่แกว่งแขนซ้ายและขวาไปข้างหน้าและข้างหลังพร้อมกัน



บทความแนะนำ


โบฮีเมียนแฟชั่นการศึกษาภาพยนตร์เทรนด์แฟชั่นUltramanทรงผมทรงผมสั้นทรงผมประบ่าทรงผมถักเปียดูดวงดวงความรัก