'กรีนพีซ' เปิดรายงานวิกฤตฝุ่นละอองปี 2559 พบ 'เชียงใหม่-ขอนแก่น-แม่เมาะ' ติด 3 ลำดับอากาศพิษ

อ่าน 8,494

เมืองใหญ่ของไทย ชีวิตที่ต้องแลกกับวิกฤตฝุ่นพิษ PM2.5 ในเมืองที่เราอยู่ตอนนี้มีมลพิษทางอากาศมากน้อยแค่ไหน? ที่เราบอกว่าวันนี้อากาศดีนะ ที่จริงแล้วอากาศดีจริงหรือเปล่า?

มลพิษทางอากาศโดยเฉพาะอย่างยิ่งฝุ่นพิษ PM2.5 เป็นสิ่งที่เรามองไม่เห็น คำถามเหล่านี้จึงยากที่จะตอบได้หากไม่มีเครื่องวัด เว้นเสียแต่ว่าจะเป็นคุณภาพอากาศที่แย่จนเรารู้สึกได้ดังเช่นที่เกิดขึ้นในภาคเหนือช่วงต้นปีทั้งจากการเผาในที่โล่งรวมถึงความหนาแน่นของการคมนาคมขนส่งที่เพิ่มมากขึ้น แต่นั่นหมายความว่าเป็นระดับมลพิษทางอากาศที่ส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพ อากาศที่สะอาด คือคุณภาพชีวิตที่ดีของคนเมือง ดัชนีสำคัญในการชี้วัดคุณภาพอากาศคือ ปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM 2.5 ซึ่งในปัจจุบันนี้กรมควบคุมมลพิษยังไม่ได้คำนวณดัชนีคุณภาพอากาศโดยที่รวม PM2.5 เข้าไปด้วย มีการคำนวนเฉพาะฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน10ไมครอน PM10 เท่านั้น นี่คือปัญหาที่เร่งด่วน และสำคัญต่อชีวิตของทุกคน

เมืองไทย ? เมืองมลพิษ

เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2560 กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จัดถ่ายทอดสดผ่านทางเฟซบุ๊ค เปิดเผยรายงานการจัดอันดับเมืองที่มีมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) ปี 2559 ต่อเนื่องจากการจัดอันดับที่ได้นำเสนอครั้งแรกในปีที่ผ่านมา โดยผลจากการพิจารณาตามค่าเฉลี่ยรายปี ค่าเฉลี่ยสูงสุดรายเดือน และจำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐานตลอดทั้งปี 2559 พบว่า พื้นที่ที่มีมลพิษ PM 2.5 ห้าอันดับแรกคือ เชียงใหม่(อ.เมือง) ขอนแก่น(อ.เมือง) ลำปาง(แม่เมาะ) กรุงเทพฯ(ดินแดง) และสมุทรสาคร(อ.เมือง) ตามลำดับ

ในปี 2559 ที่ผ่านมา พลังจากคนเมืองได้ตระหนักถึงผลกระทบของฝุ่นพิษ PM2.5 และร่วมกันลงชื่อออนไลน์เรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษผนวกเอา PM2.5 ในการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index)

ข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในเดือนพฤษภาคม 2559 ระบุว่าประชาชนกว่าร้อยละ 80 ที่อาศัยอยู่ในเมืองในประเทศที่มีรายได้ระดับปานกลางและต่ำ กำลังเผชิญคุณภาพอากาศที่มีมลพิษเกินระดับที่องค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ ซึ่งสอดคล้องกับผลการวิเคราะห์ข้อมูลฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) จากสถานีตรวจวัด คุณภาพอากาศ 19 แห่ง พบว่าในปี พ.ศ.2559 มีพื้นที่ 10 แห่ง มีความเข้มข้นของ PM2.5 เกินค่ามาตรฐาน ในบรรยากาศทั่วไปในเวลา 1 ปี ตามข้อกำหนดของประเทศไทย (25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร) และพื้นที่ทั้ง 19 แห่งที่มีความเข้มข้น PM2.5 เกินค่ามาตรฐานในบรรยากาศทั่วไปในเวลา 1 ปี ตามข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก(10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร)

มาตรฐานคุณภาพอากาศของประเทศไทยยังมีช่องว่าง เมื่อเทียบกับข้อแนะนำขององค์กรอนามัยโลก ค่า มาตรฐานรายปีของ PM2.5 อยู่ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเมื่อเทียบกับค่า มาตรฐานขององค์การอนามัยโลกซึ่งอยู่ที่ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สูงกว่าค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก 2.5 เท่า ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงอยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรซึ่งสูงกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับมาตรฐานขององค์การอนามัยโลกซึ่งอยู่ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ส่วนค่ามาตรฐานรายปีของ PM10 ของประเทศไทยอยู่ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เมื่อเทียบกับค่า มาตรฐานขององค์การอนามัยโลกซึ่งอยู่ที่ 20 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ในขณะที่มาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงอยู่ ที่ 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เมื่อเทียบกับค่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลก 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

การที่ประเทศไทยตั้งค่ามาตรฐานให้ผู้ปล่อยมลพิษสามารถปล่อยมลพิษได้มากกว่าข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก เป็นสิ่งที่เอื้อให้กับผู้ปล่อยมลพิษมากกว่าการคุ้มครองสิทธิและชีวิตของประชาชน

ขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกกำลังตื่นตัวกับประเด็น PM2.5 โดยในปี 2558 ข้อมูลจาก State of Global Air เผยว่า PM2.5 ก่อให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในประเทศไทยประมาณ 37,500 ราย การกำหนดมาตรฐานที่เหมาะสม และการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศด้วย PM2.5 จะเป็นการช่วยปกป้องสุขภาพและชีวิตของคนเมืองได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่กรมควบคุมมลพิษจะต้องลงมือทำอย่างเร่งด่วน

"ด้วยความที่ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) เป็นฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่าเม็ดเลือดแดงที่มีขนาด 5 ไมครอน การที่มีก๊าซมีเชื้อรามาเกาะได้ ก็จะสามารถเข้าไปในร่างกายเราและก่อปฏิกิริยาทางเคมี เกิดพยาธิสภาพในปอด ด้วยความที่มันเล็ก เมื่อเราหายใจเข้าไปก็จะผ่านหลอดลม และลงไปที่ถุงลม ซึ่งเป็นหน่วยที่เล็กที่สุดของปอด และทำให้เกิดพยาธิสภาพตรงนั้น เมื่อเข้าไปในถุงลมแล้ว ถุงลมเป็นส่วนที่แลกเปลี่ยนระหว่าช่องลมกับช่องเลือด จึงทำให้สารเคมีและโลหะหนักที่มากับ PM2.5 เข้าไปสู่อวัยวะเป้าหมายอื่น ๆ ได้ เป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพที่สะสม การเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ถ้าเรามีการดูแลไม่ให้เกิดมลพิษทางอากาศมากขนาดนี้" ดร.พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าว

"ถือเป็นสัญญาณที่ดีที่กรมควบคุมมลพิษได้ติดตั้งเครื่องวัด PM2.5 ในสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศ เพิ่มขึ้นจากเดิม 12 สถานีเป็น 19 สถานีในช่วงครึ่งปีหลังของปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2559) แต่ไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหาใดๆ หากกรมควบคุมมลพิษยังไม่ยกระดับดัชนีคุณภาพอากาศที่รวม PM2.5 เข้าไปด้วย นอกจากนี้ หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องรวมถึงกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงพลังงาน กระทรวงคมนาคมและกระทรวงสาธารณสุขต้องร่วมกันลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังต่อปัญหาเร่งด่วน ด้านสุขภาพนี้และสร้างแผนปฏิบัติการที่หนักแน่นกว่าที่เป็นอยู่เพื่อทำให้อากาศดีขึ้น ลดมลพิษและปกป้องสุขภาพของประชาชน" นางสาวจริยา เสนพงศ์ กล่าวสรุป

ทำไม PM2.5 ในพื้นที่เมืองจึงเป็นเรื่องเร่งด่วน?

หากเราไม่พิจารณาดัชนีคุณภาพอากาศ PM2.5 เราจะประเมินผลกระทบสุขภาพจากอากาศที่เราหายใจ เข้าไปต่ำเกินจริง ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ในพื้นที่เมืองหลายแห่งของไทยมีความหนาแน่นของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) สูง ตัวอย่างเช่น

อ.แม่เมาะ จ. ลำปาง (วันพุธที่ 22 มีนาคม 2560)

รายงานจากสถานีตรวจวัดสำนักงานการประปาส่วนภูมิภาคแม่เมาะ พบว่า ดัชนีคุณภาพอากาศจากค่าเฉลี่ย PM10 ย้อนหลัง 48 ชั่วโมงอยู่ ที่ 64 ซึ่งยังคงเป็นระดับที่ไม่อันตราย ในขณะที่ดัชนีคุณภาพอากาศจากค่าเฉลี่ย PM2.5 ย้อนหลัง 48 ชั่วโมงคือ 139 ซึ่งเป็นระดับที่มีผลกระทบ โดยตรงต่อผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจเด็กและผู้สูงอายุ

ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ. เชียงใหม่ (วันพุธที่ 22 มีนาคม 2560)

รายงานจากสถานีตรวจวัด ต.ศรีภูมิ พบว่า ดัชนีคุณภาพอากาศจากค่าเฉลี่ย PM10 ย้อนหลัง 48 ชั่วโมงอยู่ที่ 63 ในขณะที่ดัชนีคุณภาพอากาศจากค่าเฉลี่ย PM2.5 ย้อนหลัง 48 ชั่วโมงคือ 157 ซึ่งเป็นระดับอันตราย ต้องมีการแจ้งเตือนประชาชนให้หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายนอกอาคาร

ดังที่ดร.พญ.ฉันทนา ผดุงทศ กล่าวไว้ว่า "โดยพื้นฐานฝุ่น PM2.5 เกิดจากการเผาไหม้ พอลอยอยู่ในอากาศก็จะเจอก๊าซเจอโลหะหนักเกาะ แหล่งที่มีเยอะคือ หนึ่ง การเผาในที่โล่ง เช่นหมอกควันไฟป่าภาคเหนือ สองการเผาไหม้ในโรงงานอุตสาหกรรม เช่นกรณีโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง และ สาม การเผาไหม้ของเครื่องยนต์เครื่องจักร เช่นการใช้รถยนต์บนท้องถนน ฝุ่นพิษ PM2.5 จึงเป็นปัญหามลพิษทางอากาศที่เป็นวิกฤตของคนเมืองต้องเผชิญโดยไม่รู้ตัว การรวม PM2.5 ในการวัดดัชนีคุณภาพอากาศ คือทางออกทางเดียวที่จะช่วยให้เราสามารถรู้ได้ว่าอากาศที่เราหายใจนั้นมีมลพิษและอันตรายมากน้อยเพียงใด ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือการพัฒนาคุณภาพอากาศในประเทศไทยที่กรมควบคุมมลพิษต้องคำนึงถึง อันหมายถึงคุณภาพชีวิตของคนไทยด้วย"

ที่มา : @greenpeaceth



บทความแนะนำ


PizzaTheCompanyแตงโมโตโน่แตงโมฆ่าตัวตายข่าวบันเทิงการศึกษาทรงผมทรงผมสั้นทรงผมประบ่าทรงผมถักเปียดูดวงดวงความรัก