พุเตย บ้านซึ่งม่านหมอกห่มขุนเขา

อ่าน 12,547

ธเนศ งามสม...เรื่อง

ธีระพงษ์ พลรักษ์...ภาพ

1. เราออกเดินทางเพื่อจะพบความหมายบางอย่างของคำว่า "บ้าน"

นิยามนี้ค่อย ๆ กระจ่างชัดขณะเราบ่ายหน้าขึ้นภูเขา ขุนเขาซึ่งเรียกกันว่า "พุเตย"

ที่อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี เรามาที่นี่ขณะฝนกำลังห่มคลุมขุนเขา

ต้นไม้ผลิใบเขียวขจี สายฝนค่อย ๆ ผุดซึมจากผืนดินไหลหลั่งลงหน้าผา ค่อย ๆ

เดิมเต็มลำห้วยน้อยใหญ่

จากที่ราบพื้นล่าง เราบ่ายหน้าไปตามทางคดโค้ง

ภูเขาเริ่มปรากฏตรงโน้นตรงนี้ บ้านเรือนเริ่มบางตา

บรรยากาศบ้านไร่ชายป่าให้อารมณ์รื่นรมย์ พรรณไม้นานาให้ความรู้สึกเย็นตา

พ้นจากบ้านไร่ชายป่าทางลาดยางพาเรามาถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติพุเตย

จากตรงนั้นทางลูกรังก็นำเราขึ้นภูเขา สองข้างทางร่มรื่นด้วยป่าไผ่

ราวอุโมงค์สอดสานนำพาเราไป

สิ้นสุดทางลูกรังบ้านไร่ชายป่าก็ปรากฏอยู่เบื้องล่าง

ท้องฟ้าดูกว้างไกลยิ่งกว่าเดิม เมฆขาวล่องลอยเรี่ยทิวเขา

จากตรงนั้นรอยทางเล็ก ๆ ทอดนำเราขึ้นไป

ตามพื้นป่าประดับด้วยดอกไม้แห่งฤดูฝน เข้าพรรษาอวดดอกขาวสะอาด

เห็ดหลากสีงอกงามอยู่ตามขอนไม้ สังกรณีผลิดอกพราว

ราวกับปูลาดด้วยสีม่วงสดใส

ที่ความสูง 736 เมตร

จากระดับทะเลปานกลาง รอยทางมาสิ้นสุดบนยอดเขา

เบื้องหน้าของเราปรากฏสนสองใบกระจายอยู่ทั่ว

ลำต้นสูงเปลาราวกับเส้นสายในภาพเขียน ใบเรียวเล็กเป็นจุดพู่นั้น

คล้ายปลายพู่กันสีเขียวนับพันนับหมื่น

ยามเมื่อลมพัดมาปลายพู่กันเหล่านั้นก็โอนอ่อนพลิ้วไหว

เสียงใบสนต้องลมฟังราวกับเสียงฝนพรำสาย

นึกถึงคำของชาวกะเหรี่ยง "โชซู"

ซึ่งหมายถึงสนสองใบ ความหมายของพวกเขาไม่ได้กินความแค่ความงดงาม

ทว่าหมายถึงฟืนไฟ น้ำยางสนให้แสงสว่าง ช่วยให้ม่านคืนวันอันเหน็บหนาวไปได้

โมงยามนั้นเราจึงคล้ายอยู่ในโลกอีกใบ ? โลกอันสงบงามเย็นใจ

2. จากป่าสน เราบ่ายหน้าไปทางทิศเหนือ ตามทางภูเขาสูงชันขึ้นไป

ทางสายนั้นนำเราไปยังแหล่งต้นธาร ที่ซึ่งน้ำเย็นใสผุดซึมจากผืนดิน

จากรากหมู่ไม้ ป่าไผ่เขียวชอุ่มห่มคลุมสองข้างทาง เหยี่ยวรุ้งสยายปีกโบยบิน

นกเล็ก ๆ ร้องเพลงแว่วหวาน ไก่ฟ้าหลังขาวเยื้องย่างงามสง่า

ขนทางสีขาวนั้นสวยสะอาดราวกับดอกไม้ ลมเย็นชื่นโบกโบย

ปุยเมฆเหมือนลอยลงมาใกล้ ไม้ใหญ่ค่อย ๆ ปรากฏ

สองข้างทางเปลี่ยนกลายเป็นป่าเบญจพรรณ ไม่ไกลจากนั้น

เราก็ถึงต้นธารของลำตะเพินคี่ ลำน้ำสำคัญของป่าผืนนี้

ในหุบเขาเย็นชื่น ร่มรื่นด้วยไม้ใหญ่และพรรณไม้ชอบน้ำ "น้ำตกตะเพินคี่"

ใหญ่ไหลโจนจากหน้าผา รอบ ๆ อาณาบริเวณเป็นเทือกเขาหินปูน

เชิงชั้นของตะเพินคี่ใหญ่จึงดูอ่อนช้อย

แม้จะเป็นน้ำตกสายน้อยทว่าดูสวยเพลิดเพลินตา

เสียงนกเขนน้ำร้องเพลงหวานใส ยิ่งช่วยให้บรรยากาศเพลิดเพลินใจ

พวกเขาเปรียบดั่งดังชะนีชี้วัดความสะอาดของสายน้ำ เพราะใช้ชีวิตดื่มกิน

เติบโต และสืบทอดทายาทก็ด้วยลำน้ำสายนี้

เช่นเดียวกับทุกชีวิตแห่งลำตะเพินคี่

เช่นเดียวกับน้ำตกตะเพินคี่น้อยที่อยู่ถัดขึ้นไป

เรามาถึงตะเพินคี่น้อยขณะแดดฉายส่อง เมฆฝนแห่งฤดูเปิดฟ้าให้ชั่วครู่

ก่อนจะไปรอสายเย็นชื่นรินรดผืนไพร ใต้แสงอบอุ่น รุ้งสีสวยวาดโค้งตรงขอบฟ้า

ทอดทาบเรียวรุ้งเหนือภูเขาเทวดา ขุนเขา

ซึ่งเปรียบดั่งหลังคาของจังหวัดสุพรรณบุรี ทางภูเขามาสุดสาย ณ ตรงนี้

ที่ซึ่งหยดน้ำเย็นใสค่อย ๆ ผุดซึมจากรากไม้ และที่ซึ่งเรียกว่า "บ้าน" อันเก่าแก่ยาวนานของชาวกะเหรี่ยงตะเพินคี่

3. คล้ายอยู่ในโลกอีกใบ โลกอันสงบเงียบเรียบง่าย

เรารู้สึกเช่นนั้นขณะอยู่ในหมู่บ้านกะเหรี่ยงตะเพินคี่ เวลา 3 วัน 2 คืน อาจไม่ยาวนานนัก ทว่าก็ช่วยให้เรา "เข้าใกล้"

วิถีแห่งชนเผ่าอันเก่าแก่นี้

ยาวนานกว่าร้อยปีแล้วที่ชาวกะเหรี่ยงลงรากฝากชีวิต ณ ที่แห่งนี้

ด้วยทำเลอันอุดมสมบูรณ์ ในหุบเขาซึ่งเป็นต้นน้ำของลำห้วย 18 สาย รายล้อม

ด้วยผืนไพรเขียวชอุ่มชุ่มเย็น มีภูเขาเทวดาสูงตระหง่านเป็นหมุดหมาย

ดั่งอารักษ์ปกปักและเลี้ยงดูให้เติบใหญ่

"เราเรียกภูเขาเทวดาว่า "คะรุงดอง" ค่ะ"

เด็กหญิงวันวิสา งามยิ่ง นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านกล้วย

สาขาตะเพินคี่ บอกกับผู้มาเยือนด้วยน้ำเสียงชัดใส

เธอเป็นหนึ่งในลูกหลานชาวกะเหรี่ยงที่เข้าเรียนในรุ่นนี้โรงเรียนสาขาตะเพิน

คี่เปิดสอนถึงชั้นประถมฯ 5 ปีนี้มีนักเรียนทั้งหมด 21 คน สอนโดยครู 1 คน

ซึ่งเป็นทั้งครูและทุก ๆ อย่างที่โรงเรียนควรมี

"เราเหมือนเข็มทิศแนะแนวทางให้พวกเขาก้าวไปข้างหน้าต่อไปได้"

มานัส เมืองช้าง ครูหนึ่งเดียวของที่นี่ บอกแล้วก็ยิ้มอารมณ์ดี 18

ปีแล้วที่ครูมานัสทำหน้าที่นี้ อันที่จริงครูเป็นคนต่างถิ่น

มาเยี่ยมมิตรที่นี่แล้วชอบใจ ต่อมาก็กลายเป็นสมาชิกของบ้านตะเพินคี่

วันหนึ่งเราไปเยี่ยมครูที่บ้าน ได้เห็นครอบครัวที่ดำเนินชีวิตอย่างพอดีเชื่อร้อยวิถีเก่า-ใหม่เข้าด้วยกันอย่างลงตัว

ในยุคที่ทุกอย่างก้าวรุดไปข้างหน้า ครูเปิดรับความรู้ใหม่ ๆ จากในเมือง ขณะ "พี่สายบัว"

ซึ่งเป็นภรรยา ยังรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้

บนเรือนไม้หลังนั้นยังมีเครื่องทอผ้าที่ผู้หญิงกะเหรี่ยงควรมี

ขณะพี่สายบัวขยับกี่เอว เส้นด้ายหลากสีค่อย ๆ ถักทอเป็นลวดลายบนผืนผ้า

โมงยามดังกล่าวคล้ายนำพาย้อนเวลากลับไป คล้ายโมงยามตรงหน้าเส้าเตาไฟ

ในกระท่อมหลังน้อยของ จะเอง เนเรียะ ผู้เฒ่าที่ชาวตะเพินคี่เคารพรัก

ปีนี้จะเองอายุ 68 ปีแล้ว ทว่ายังแข็งแรงจับจอบพร้าคล่องแคล่ว

ตอนที่เราไปเยี่ยมชายชรากำลังง่วนอยู่กับงานในไร่

ไร่ของจะเองไม่เหมือนใคร หุบห้วยตรงนั้นมีทั้งข้าวไร่ พืชผักหลากหลาย

หมากพลู สับปะรด ข้าวโพด แซมด้วยเงาะและลำไย

ซึ่งจะเองบอกว่าปลูกไว้แบ่งกันกิน ไม่เคยขายให้ใคร

"เราทำแค่พอกินพอใช้ ถ้าหวังรวยเท่าไรก็ไม่พอหรอก" ชายชราบอกพลางมวนยาเส้นจุดสูบ ระบายควันสีเทาสบายใจ

จะเองเป็นผู้นำหมู่บ้านรุ่นที่ 2

พื้นเพมาจากหมู่บ้านกะเหรี่ยงที่อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี

สมัยยังหนุ่มเดินเที่ยวป่ากับเพื่อน ๆ ไปทั่ว

จากศรีนครินทร์ไปทุ่งใหญ่นเรศวร มาห้วยขาแข้ง

แล้วมาพบหญิงสาวคู่ชีวิตที่นี่

"แต่

ก่อนน่ะป่าไม้ไม่มีแบ่งว่าที่นั่นที่ไหน เราเดินเที่ยวไปทั่ว

ทุกอย่างสมบูรณ์หมด ทั้งเสือ ช้าง กระทิง วัวป่า จะว่าลำบากก็ไม่ใช่

เรามีข้าวกินตลอดปี เจ็บป่วยเรามียาสมุนไพร" ชายชราเล่าแล้วก็ยิ้มเย็น ๆ ทอดมองละอองฝนหยดลงจากหลังคา

เป็นความจริงที่ว่าทุกอย่างก้าวรุดไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว

ลูกหลานรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมาต้องเรียนรู้ที่จะอยู่กับโลกทันสมัยในวิถี

แหงขุนเขา น่าดีใจแทนชายชราที่ลูกซึ่งเรียนจบปริญญาโททางกฎหมาย

เลือกที่จะกลับมาอยู่บ้านเกิด ยังชีพด้วยข้าวไร่และทำงานช่วยหมู่บ้านไปด้วย

ในกระท่อมหลังน้อย เคียงเส้าเตาไฟอบอุ่น

ขณะฝนโปรยละอองชุ่มเย็นไม่ขาดสาย ผมค่อย ๆ รับรู้ว่าฟืนไฟมีความหมายเพียงใด

โมงยามล่วงผ่าน เรื่องเล่าในวันวานทั้งรื่นรมย์ น่ารู้

และบอกสอนเรามากหลาย ... วันวานสอนให้รู้ซึ้งถึงคุณค่า ทั้งผืนดิน น้ำ

และค่าข้าว ประเพณีอันเก่าแก่ช่วยกล่อมเกลาให้จัดใจสะอาด สงบงามดั่งขุนเขา

ก่อนลาจากชายชราเล่าถึงเจ้าวัดที่เพิ่งเสียชีวิตไป ในวิถีของชาวกะเหรี่ยง

เจ้าวัดคือศูนย์รวมจิตใจและผู้นำในการประกอบพิธีกรรมทั้งหลาย

เล่าถึงประเพณีไหว้เจดีย์จุฬามณี

พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวกะเหรี่ยงจะเดินทางมาร่วมจากทุกถิ่นที่

ผมยังจำวันนั้นได้ดี เป็นเช้าอันเย็นชื่น เสียงชะนีร้องกังวานแว่วมา

นกกาฮังบินเคียงกันเหนือเรือนยอดไม้ วันที่หมอกขาวล่องลอยราวริ้วไหม ค่อย ๆ

ทอดสายห่มคลุมทิวเขา ภูเขาเทวดาดูสงบงามราวมหาวิหารอันศักดิ์สิทธิ์

ในวันหนึ่งข้างหน้า เจ้าวัดจะ "หวนคืน" สู่บ้านตะเพินคี่ ประเพณีไหว้เจดีย์จุฬามณีจะนำพาผู้คนกลับมา หวนคืนมาบูชาดิน น้ำ และป่า ณ ที่ซึ่งหมอกขาวห่มขุนเขาแห่งนี้

ขอขอบคุณ

คุณเผด็จ กระจ่างยุทธ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติพุเตย, ครูมานัส

เมืองช้าง, พ่อเฒ่าจะเอง เนเรียะ ทุก ๆ คนที่บ้านตะเพินคี่ และ Thailand

Outdoor Shop ที่สนับสนุนอุปกรณ์แคมปิ้งในการทำงาน โทรศัพท์ 08 1551 3332,

08 1627 2485 และเว็บไซต์ thailandoutdoorshop.com

คู่มือนักเดินทาง

ผืนป่าที่เรียกกันว่า "พุเตย"

ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อ พ.ศ. 2541 ครอบคลุมเนื้อที่

198,522 ไร่ ในเขตอำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี

กล่าวได้ว่าพุเตยเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญของจังหวัดสุพรรณบุรีและใกล้เคียง

ภูมิประเทศเป็นภูเขาและป่าไม้เชื่อมต่อกับอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์

และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ "ผืนป่าตะวันตก" อันอุดมสมบูรณ์และกว้างใหญ่ที่สุดของประเทศไทย

นอกจากจะเป็นแหล่งต้นน้ำสำคัญ

พุเตยยังมีแหล่งธรรมชาติที่น่าเรียนรู้และพักผ่อนหย่อนใจ

ไม่ไกลจากที่ทำการอุทยาน ที่ความสูง 736 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง

มีป่าสนสองใบสวยงาม และมีจุดชมทิวทัศน์น่าชม

เดินทางตามทางภูเขาไปบ้านตะเพินคี่ ซึ่งอยู่ ณ ใจกลางป่า

ระหว่างทางจะผ่านน้ำตกตะเฟินคี่ใหญ่ มีน้ำไหลหลั่งจากผาหินปูนตลอดปี

บริเวณนั้นน่าดูนก หากโชคดีอาจได้พบไก่ฟ้าหลังขาว

หนึ่งในตระกูลไก่ฟ้าที่พบในเมืองไทย

ปลายทางภูเขาจะไปสิ้นสุดที่บ้านตะเพินคี่

หมู่บ้านชาวกะเหรี่ยงที่ยังคงวิถีอันดีงาม

ที่นี่ไม่มีการเล่นพนันหรือดื่มสุรา

ผู้คนศรัทธาวิญญาณบรรพบุรุษและพุทธศาสนา

ในหมู่บ้านมีน้ำตกตะเพินคี่น้อยและถ้ำซึ่งมีหินงอกหินย้อยสวยงาม

ใกล้กับหมู่บ้านมีลานกางเต็นท์ของอุทยาน ทิวทัศน์สวย

ช่วงฤดูฝนและฤดูหนาวหมอกขาวจะล่องลอยห่มทิวเขา

บริเวณเดียวกันนั้นจะมองเห็นภูเขาเทวดา ยอดเขาสูง 1,123 เมตร

จากระดับทะเลปานกลาง ซึ่งเป็นจุดสูงสุดของจังหวัดสุพรรณบุรี

การเดินทาง

จาก

สุพรรณบุรีไปอุทยานแห่งชาติพุเตย สะดวกสุดโดยทางหลวงหมายเลข 333

ก่อนถึงอำเภอด่านช้าง เลี้ยวซ้ายใช้ทางหลวงหมายเลข 3086

จากนั้นเลี้ยวขวาใช้ทางหลวงหมายเลข 3480 ถึงบ้านห้วยหินดำเลี้ยวขวา

ก่อนถึงสถานีบำรุงพันธุ์สัตว์ เลี้ยวขวาเข้าที่ทำการอุทยาน

บ้านตะเพินคี่อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยาน 28 กิโลเมตร

ฤดูฝนทางจะเป็นหล่มโคลน ฤดูแล้งและหนาว รถยนต์ทั่วไปสามารถเดินทางขึ้นไปได้

สิ่งอำนวยความสะดวก

อุทยานมีบ้านพักและลานกางเต็นท์ให้บริการ ไม่มีร้านอาหาร แต่ปากทางเข้ามีร้านอาหารและร้านชำอยู่หลายร้าน

สอบถามเพิ่มเติม

อุทยานแห่งชาติพุเตย ตู้ ปณ. 19 ปท. ด่านช้าง อำเภอด่านช้าง

จังหวัดสุพรรณบุรี 72180 โทรศัพท์ 08 1934 2240, 0 3544 6237

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุพรรณบุรี โทรศัพท์ 0 3552

4880

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก อสท

ปีที่ 56 ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2558



บทความแนะนำ


ขับรถชนคนจากSpeaker4.0BluetoothShowerVtinเกมมิ่งเมาส์ประเทศไทยCOUGARเทคโนโลยีข่าวล่าสุดคลิปรถชนคนทำร้ายหนุ่มกฟผ.ทรงผมทรงผมสั้นทรงผมประบ่าทรงผมถักเปียดูดวงดวงความรัก